มั่นใจคุมทุจริตข้อสอบกลางเข้ม จี้ครูพื้นที่ห่างไกลลดวิชาอื่นเพิ่มชม.ภาษาไทย




      
มั่นใจคุมทุจริตข้อสอบกลางเข้ม จี้ครูพื้นที่ห่างไกลลดวิชาอื่นเพิ่มชม.ภาษาไทย


          จาตุรนต์ มั่นใจมาตรการคุมทุจริตข้อสอบกลางเข้ม เชื่อการใช้ข้อสอบกลางเกิดมาตรฐานในการจัดการเรียนการสอนที่เท่าเทียมกัน จี้ครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลเพิ่มชั่วโมงภาษาไทย ลดวิชาอื่นลง โดยเฉพาะชั้น ป.1-ป.3 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่เด็กจะซึมซับได้เร็ว ให้ภาษาไทยแตกฉาน
          เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ผ่านมามีการใช้ข้อสอบกลางในการวัดผลชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถวัดผลได้ เนื่องจากพบข้อมูลว่า ผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งแก้ข้อสอบ โดยได้รับความร่วมมือจากกรรมการคุมสอบ ว่า เรื่องดังกล่าวคิดว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเขตพื้นที่การศึกษา จะดูแลการจัดสอบให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส
          ขณะเดียวกันปัจจุบันมีการสอบวัดผลกลางหลายอย่าง อาทิ การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ดังนั้นจึงถือว่าพอมีประสบการณ์ หากเริ่มนำข้อสอบกลางมาใช้จริง น่าจะมีมาตรการป้องการที่เข้มข้น แต่หลักใหญ่คือ จะต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการใช้ข้อสอบกลาง เพื่อเกิดมาตรฐานในการจัดการเรียนการสอนที่เท่าเทียมกัน โดยเรื่องที่น่าห่วงมากตอนนี้คือ ความไม่เข้าใจในเป้าหมายของการจัดสอบกลาง หรือการที่โรงเรียนเคยชินกับการปล่อยเกรด โดยไม่มีการพัฒนาคุณภาพ
          นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ครูในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่นักเรียนไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ห่วงว่า หากใช้ข้อสอบกลางจริงจะทำให้นักเรียนสอบตกมากขึ้น เพราะอ่านภาษาไทยไม่แตกฉาน ในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการเสนอให้ลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ลงจาก 8 กลุ่มสาระ เหลือ 6 กลุ่มสาระ เพื่อให้นักเรียนไปเน้นเรียนในวิชาที่จำเป็นในแต่ละช่วงชั้นมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับชั้น ป.1-ป.3 ซึ่งมีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ก็อาจจะไปเน้นการเรียนในวิชาภาษาไทยให้มากขึ้น แต่ทั้งหมดจะต้องรอหลักสูตรใหม่มีผลบังคับใช้ก่อน โรงเรียนจึงจะสามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้
          แต่สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ที่เด็กไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสารนั้น ศธ.ก็ส่งเสริมให้ครูไปปรับการเรียนการสอนได้ทันที โดยไม่ต้องรอหลักสูตรใหม่มีผลบังคับใช้ โดยการลดชั่วโมงเรียนในวิชาอื่นลง และเพิ่มชั่วโมงเรียนในวิชาภาษาไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะชั้น ป.1-ป.3 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญที่เด็กจะซึมซับได้เร็ว สำหรับความคืบหน้าของการทำหลักสูตรใหม่นั้น เท่าที่ดูเสร็จไปประมาณ 80% แล้ว อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดต่างๆ ร่วมกับผู้มีส่วนร่วม ซึ่งนัดจะหารือกับคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรอีกครั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ นายจาตุรนต์ กล่าว-

        

 ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


โพสเมื่อ : 14 มี.ค. 57   อ่าน 1600 ครั้ง      คำค้นหา :