แนะสปช.ศึกษาอย่ายึดติดองค์กร



สมพงษ์ จิตระดับ ชี้จะทำให้การปฏิรูปจากฐานล่างไม่สำเร็จ/สุดท้ายได้แค่เอกสารวิจัยอีกเล่ม สมพงษ์มอง สปช.ด้านการศึกษาที่มาจาก ศธ. อย่ายึดติดความเป็นตัวแทนหน่วยงานของตน เพราะจะทำให้การปฏิรูปจากฐานล่างไม่สำเร็จ ได้รูปแบบการศึกษาที่แข็งทื่อเช่นเดิม ไม่สามารถเชื่อมโยงบุคลิกลักษณะความเป็น รร.เอกชนกับ รร.รัฐเข้าด้วยกันได้ หรืออย่าเอาแต่ประชุม เพราะสุดท้ายจะได้แค่เอกสารวิจัยอีกเล่ม ย้ำทั้ง 18 คนต้องฟังเสียงผู้สมัครทั้ง 777 คน เพื่อเปิดทางให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ เปิดเผยว่า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา จำนวน 18 คน ถือว่ามีการคัดสรรมาอย่างดีจาก 777 คน เพราะเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในวงการการศึกษา และหลักการในการคัดเลือกก็มาจากทุกองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษา แต่ปัญหาของการศึกษานั้นถือเป็นโจทย์ที่ยากและได้รับการคาดหวังจากสังคม ทั้งยังมีเวลาที่จำกัดและสามารถทำได้เพียงเสนอข้อเสนอแนะเท่านั้น และสมาชิกทั้ง 18 คนดังกล่าวก็มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในแต่ละระดับ แต่ถ้าทุกคนยึดติดกับความเป็นตัวแทนของหน่วยงานของตัวเองจะทำให้เสียเวลา และอาจจะส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษาไปในทิศทางที่ผิดจากวัตถุประสงค์

และจากสมาชิก 18 คนนี้ จะเห็นได้ว่ามีองค์กรเอกชน กลุ่มเอ็นจีโอด้านการศึกษาจำนวนมาก และถ้ามองให้แง่ดี นี่ถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาจากตัวฐานล่าง ซึ่งการปฏิรูปในครั้งนี้จะสามารถเชื่อมโยงและบูรณาการกันได้หรือไม่ แต่ถ้าระบบการศึกษามีลักษณะที่แข็งเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น ก็จะทำให้การปฏิรูปจากฐานล่างไม่เกิดผล เช่น การเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างโรงเรียนทางเลือกที่สอนการเรียนรู้อย่างแท้จริง กับโรงเรียนที่อยู่ในระบบราชการ จะบูรณาการได้อย่างไร เป็นต้น เพราะฉะนั้นการปฏิรูปในครั้งนี้อาจจะได้เห็นการประนีประนอมระหว่างภาครัฐและ ภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

รศ.ดร.สมพงษ์กล่าวอีกว่า และประการสุดท้าย นอกจากสมาชิก 18 คนจะต้องทำหน้าที่ในสภาปฏิรูปฯ แล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายกับผู้สมัครอีก 777 คน เพื่อสร้างความมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีรับวิจารณ์ ประชาพิจารณ์ และตั้งกรรมาธิการต่างๆ แต่หากการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการประชุมหารือ และไม่มีการขับเคลื่อนตามโจทย์ในทิศทางเดียวกัน ก็จะเป็นเหมือนการทำเอกสารและได้บทสรุปเรื่องการปฏิรูปการศึกษาอีกเล่มหนึ่ง เท่านั้น ดังนั้นตนคิดว่าต้องมีการระมัดระวังในเรื่องการบริหารจัดการ คือต้องเข้าใจในโจทย์เดียวกัน และขับเคลื่อนร่วมกันให้ดำเนินไปในทางเดียวกัน เพราะปัญหาในเรื่องการศึกษานั้นมีงานศึกษาวิจัยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำซ้ำ สิ่งที่ต้องทำคือสรุปให้เห็นภาพรวมชัดเจนภายในกรอบระยะเวลาไม่นานเกินไป

สำหรับ สปช.ทั้ง 18 คน ประกอบด้วย นายอมรวิชช์ นาครทรรพ, นายศักรินทร์ ภูมิรัตน, พล.ท.พอพล มณีรินทร์, นายกมล รอดคล้าย, นางชัชนาถ เทพธรานนท์, นายปิยะวัติ บุญ-หลง, นายณรงค์ พุทธิชีวิน, นายสมเกียรติ ชอบผล, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์, นายเขมทัต สุคนธสิงห์, นายณรงค์ วรงค์เกรียงไกร, นางประภาภัทร นิยม, นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา, นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์, นายมีชัย วีระไวทยะ, นางทิชา ณ นคร, พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ์ และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร

ด้าน สปช.ที่เป็นตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ คือนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ส่วนนายสมเกียรติ ชอบผล อดีตเป็นรองเลขาธิการ กพฐ. แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.

 

 

ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 13 ตุลาคม 2557


โพสเมื่อ : 13 ต.ค. 57   อ่าน 1338 ครั้ง      คำค้นหา :