"อ๋อย" จี้เร่งปฏิรูปศึกษาอัดเลิกยุ่งโครงสร้างศธ.



'จาตุรนต์-สปช.' รุมค้านแยก ศธ. ชี้ควรมุ่งปฏิรูปการศึกษา อัดสาละวนโครงสร้าง อดีตอธิการฯ มรภ.สุราษฎร์ฯจวกไม่ใช่เรื่องด่วน เวลาจำกัด 1 ปี ควรเน้นด้านคุณภาพ

ความคืบหน้ากรณี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศึกษาว่าควรจะแยกตัวออกจาก ศธ.หรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างกระทรวงปัจจุบันใหญ่และอุ้ยอ้ายเกินไป ทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัว โดย สอศ.ให้ศึกษาว่าควรแยกตัวไปจัดตั้งเป็นอีกกระทรวงหรือไม่ สกอ.ให้ศึกษาว่าให้แยกออกไปตั้งเป็นทบวงหรือกระทรวง ขณะที่ สกศ.ให้ศึกษาว่าควรจะกลับไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยให้เวลา 1 เดือน
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นายณรงค์ พุทธิชีวิน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุราษฎร์ธานี ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา เปิดเผยว่า วิธีคิดของคนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พอคิดจะทำอะไรมักพูดเรื่องโครงสร้าง ศธ. การคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบราชการมาก เวลาทำอะไรไม่คล่องตัว หรือทำอะไรไม่ได้ก็คิดว่าเป็นเพราะโครงสร้าง มีปัญหา

"แต่ทำไมไม่คิดว่าจะทำหรือแก้ไขด้วยวิธีการอย่างอื่น เช่น หากมองว่าโครงสร้าง ศธ.ทำให้การบริหารจัดการของ ศธ.ไม่มีความคล่องตัว อาจจะเขียนกติกาที่ทำให้คล่องตัวมากกว่าการมาปรับโครงสร้างใหม่ที่จะต้องใช้ เวลาและใช้งบประมาณ ซึ่งยังไม่มีใครรู้คำตอบว่าหากปรับโครงสร้าง ศธ.แล้วจะได้คำตอบอย่างที่คาดหวังกันหรือไม่ ขอถามว่าความคล่องตัวในการบริหารจัดการอยู่ที่ตัวเราหรืออยู่ที่โครงสร้าง กันแน่" นายณรงค์กล่าว

นายณรงค์กล่าวว่า การปรับโครงสร้าง ศธ.เป็นเรื่องรอง เพราะเวลาพูดเรื่องการศึกษาของไทยจะต้องมาดูเรื่องของคุณภาพการศึกษา การเอาจริงเอาจังของคนในแวดวงการศึกษาที่จะช่วยกันผลักดันแก้ไขคุณภาพการ ศึกษาไทยให้ดีขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ไม่ได้ตอบโจทย์เก่า แต่หากคิดว่าเปลี่ยนโครงสร้าง ศธ. ใหม่เพราะแค่ความคล่องตัว คิดว่าเป็นการคิดที่ง่ายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าความคิดดังกล่าวผิด แต่ต้องตีโจทย์การศึกษาให้ตรงประเด็น เนื่องจากเวลาในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษามีจำกัดแค่ประมาณ 1 ปีเท่านั้น ฉะนั้นต้องตอบโจทย์ที่สำคัญก่อนเป็นอันดับแรก

"การศึกษาไทยมีส่วนสำคัญที่ต้องเน้น 4 ด้าน ทั้งคุณภาพ โอกาส การยึดโยงกับการประกอบอาชีพ และการแข่งขัน ผมมองว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ควรเน้นการปฏิรูปที่จิตสำนึกและระบบความ คิดด้วย หากเน้นที่การปฏิรูปโครงสร้างจะได้แต่โครงสร้าง ประเด็นเหล่านี้จะต้องนำไปหารือกันใน สปช.ด้านการศึกษาอย่างแน่นอน" นายณรงค์กล่าว

นายสมใจ เชาว์พานิช ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) มหาสารคาม กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดแยกสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ออกมาจาก ศธ.โดยน่าจะยกฐานะเป็นทบวงเช่นเดียวกับทบวงอุดมศึกษา และตั้งกรมเพิ่มขึ้นมา เช่น กรมการศึกษาอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นต้น

"การแยกตัวออกมาจะต้องเน้นการกระจาย อำนาจเป็นสำคัญต้องไม่สร้างขั้นตอนการบริหารจัดการที่เป็นอุปสรรคเพื่อให้ การจัดการศึกษาสำเร็จรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหัวใจสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษาจะต้องดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วย จัดการศึกษาด้วย อีกทั้งต้องร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย" นายสมใจกล่าว และว่า การปรับโครงสร้างของ สอศ.ที่จะต้องทำข้อเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้นจะต้องระดมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สอศ.ทั่วประเทศ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ภาคเอกชน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด ในวันที่ 14 ตุลาคมตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ให้รับผิดชอบในส่วนของโครงสร้างบริหารงานจะเข้าประชุมหารือนัดแรกกับ เลขาธิการ กอศ.และผู้บริหาร สอศ.ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการปรับโครงสร้าง สอศ.

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก และ สปช. กล่าวว่า กรณีที่ พล.ร.อ.ณรงค์จะส่งเรื่องนี้มาให้ สปช.ด้านการศึกษาพิจารณานั้นมองว่าการผ่าตัดโครงสร้างลดความอุ้ยอ้ายเพื่อ ให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัว ผู้ใหญ่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาไปได้โดยง่าย ก็มีความสำคัญ ขณะที่การรื้อหลักสูตรยกเลิกวิชาที่เด็กต้องเรียนมากเกินความจำเป็นโดยที่ ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิตของเด็กได้ ก็มีความเร่งด่วนไม่แพ้กัน
"ฉะนั้นต้องทำทั้งสองเรื่องควบคู่กัน ดังนั้นในการประชุม สปช.ด้านการศึกษานัดแรก อาจต้องคุยกันว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องปฏิรูปภาคใหญ่ซึ่งการศึกษาก็เป็นส่วน หนึ่ง โดยขอให้ยึดผลประโยชน์ของเด็กที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ทำงานรับใช้การเมือง รัฐมนตรีหรือนักการเมือง" นางทิชากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chaturon Chaisang" ระบุว่าเห็นข่าวปฏิรูปการศึกษากำลังพูดกันเรื่องการจัดโครงสร้างกระทรวงกัน ใหม่ ก่อนหน้านี้ก็มีพูดกันเรื่องการแยก สกอ.ออกไปเป็นทบวงอยู่บ้างแล้ว คราวนี้เสนอให้แยก สกศ.ออกไปด้วย ซึ่งจะคล้ายกับก่อนรวมทุกส่วนเข้ามาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน แต่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกคือ เสนอให้แยกอาชีวศึกษาออกจากกระทรวงไปด้วย ต้องบอกว่าไปกันใหญ่แล้วการรวมหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมาซึ่งเกิดจากความคิดของนักการศึกษาไทยเมื่อประมาณ 15 ปี ก่อนนั้น เป็นความพยายามให้เกิดการทำงานประสานกัน เชื่อมโยงกันของหน่วยงานด้านการศึกษา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่การรวมกันเป็นกระทรวงเดียวนี้ไม่ใช่ไม่มีข้อเสีย แม้แต่การประสานร่วมมือกันหรือการทำงานที่เป็นเอกภาพก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่าง ที่ออกแบบไว้ นอกจากนั้นองค์กรบางองค์กรอาจถูกลดการให้ความสำคัญในด้านงบประมาณลงไปเช่น อุดมศึกษาเป็นต้น

"แต่ปัญหาใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาที่สำคัญกว่าที่กล่าวไปแล้ว ก็คือ วงการศึกษาได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจัดโครงสร้างองค์กรและดูแลผลกระทบจาก การจัดโครงสร้างองค์กรโดยให้ความสนใจต่อการปฏิรูปการศึกษาในความหมายของการ ปฏิรูปหลักสูตร การเรียนการสอน การผลิตและพัฒนาครูน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้เน้นคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของการ จัดการศึกษาและยังไม่แก้ปัญหาโดยเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ เข้าด้วยกัน" นายจาตุรนต์ระบุ

นายจาตุรนต์ระบุอีกว่า สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้จึงไม่ใช่การมาจัดองค์กรกันใหม่เพราะจะทำให้ บุคลากรทางการศึกษาทั้งหลายจะต้องสาละวนอยู่กับการจัดองค์กรและสนใจว่าการ จัดองค์กรจะเกิดผลกระทบต่อตนเองอย่างไรมากกว่าจะให้ความสนใจกับการปฏิรูปการ ศึกษาจริงๆ สิ่งที่ควรทำในช่วงนี้น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรให้ การศึกษาของไทยทุกระดับทุกประเภทมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของประเทศได้ดีขึ้น

 

 

ที่มา มติชน วันที่ 13 ตุลาคม 2557


โพสเมื่อ : 13 ต.ค. 57   อ่าน 1329 ครั้ง      คำค้นหา :