"ยูเนสโก" เผยพบเด็กทั่วโลกหลุดจากระบบการศึกษา แตะ 124 ล้านคน!



(8 ก.ย.58) ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต จ.ปทุมธานี พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวเปิดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day 2015) ประจำปี 2558  จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ว่า การรู้หนังสือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของทุกประเทศ และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ประชานทุกคนพึงได้รับ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 

อย่างไรก็ตาม จากรายงานองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ระบุว่ายังมีผู้ใหญ่กว่า 757 ล้านคนทั่วโลก ไม่สามารถอ่านเขียนหรือคิดเลขได้ โดยสองในสามของจำนวนดังกล่าวเป็นสตรีนับเป็นการสูญเสียศักยภาพของพลเมืองโลกอย่างมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทย ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการเรียนรู้ของคนในชาติโดยกำหนดนโยบายด้านการศึกษาที่มุ่งให้ประชาชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า “ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยรู้หนังสือ ซึ่งจากข้อมูลเดิม ก็พบว่ายังมีเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4 หลายแห่ง ยังอ่านเขียนไม่คล่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ได้ปรับระบบการเรียนการสอน ซึ่งจากรายงานเบื้องต้นพบว่าดีขึ้นแต่ก็ต้องรอดูผลการวัดประเมินผลที่ชัดเจนอีกครั้ง 

ส่วนของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่กศน.ดำเนินการนั้น พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า เท่าที่ดูมีความก้าวหน้ากว่าในประเทศอื่น ๆ มาก เหลือแต่ประสิทธิภาพและคุณภาพ ที่ต้องมาดูรายละเอียดว่าทำอย่างไรจะเพิ่มประสิทธิภาพการสอนของครู  ในการเพิ่มโอกาสให้คนที่มาเรียนกศน.ให้ได้มากที่สุด ซึ่งคนเหล่านี้จะอยู่ในกลุ่มวัยทำงานอายุ 20-30 ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าสนใจเพราะจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้

ด้านนายกวาง โจว คิม ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ อ่านสาสน์จากนางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ตอนหนึ่งว่า ความก้าวหน้าในการรู้หนังสือยังเป็นความท้าทาย ตั้งแต่ปี 2543 โดยจำนวนเด็กวัยรุ่นที่อยู่นอกระบบโรงเรียนทั่วโลกกำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นถึง 124 ล้านคน และยังพบว่า เด็กวัยประถมศึกษา ถึง 250 ล้านคน ขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นพื้นฐานที่ดีพอ แม้ว่าจะยังอยู่ในระบบโรงเรียนก็ตาม ซึ่งเราไม่สามารถให้เป็นเช่นนี้ต่อไปได้อีก จึงจำเป็นต้องลงทุนให้มากขึ้น พร้อมทั้งนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้านการรู้หนังสือที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยใช้กลไกเชิงนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการผนึกกำลัง ของนโยบายทุกด้านที่สำคัญต่อการสร้างสังคม 


ที่มา : นสพ.มติชนออนไลน์



โพสเมื่อ : 09 ก.ย. 58   อ่าน 1334 ครั้ง      คำค้นหา :