ต้องมองหลายด้าน



ต้องมองหลายด้าน

เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน [email protected]


วันนี้นับได้ว่า ประเทศไทยถึงเวลาเดินหน้าทำงานปฏิรูปประเทศอย่างเต็มรูป ด้วยมีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสัดส่วนตัวแทน 11 ด้าน เข้าไปทำหน้าที่ในภาวะที่เรียกว่าภายใต้สถานการณ์พิเศษ

 

หยิบยกมุมมองของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษาที่มีจำนวน 18 คน ส่วนใหญ่ให้ข่าวเป็นการเปิดตัวรอบแรก ส่วน ใหญ่หนีไม่พ้นภาพกว้างๆ ในกรอบใหญ่กับ เรื่องของครู การผลิตครู การพัฒนาครู จะผลักดันการปฏิรูปการศึกษาด้วยการกระจายอำนาจลงไปสู่พื้นที่

 

รวมไปถึงการบริหารจัดการศึกษาให้ภาคเอกชน เข้ามาช่วยดูแลจัดการศึกษา การเสริมสร้างสมรรถนะ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เรียกว่ามองมุมเดียวด้านเดียว เล่นด้านการศึกษาเนื้อๆ ลุยถั่วไป โดยไม่มองบริบทอื่นๆ ที่อาจเป็นมิติปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ มองปัญหาของประเทศให้ครบไปถึงการปลูกฝังความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

 

มีบางท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่บอกว่า คนที่มาอยู่ตรงนี้ ต้องยืนอยู่ตรงกลางให้นิ่งในการทำเพื่อประเทศชาติ การศึกษาต้องมองในทุกมิติในสังคมไทย สังคมโลก และการศึกษาที่พูดถึงความเป็นเอกภาพ ความหลากหลายในทางปฏิบัติ ต้องพูดกันให้ชัดเจนกว่านี้

 

ความชัดเจนเรื่องของนโยบายด้านการศึกษา ต่อไปการเมืองจะต้องเอาคนรู้จริงทำจริงเข้ามา แผนแม่บทการศึกษาชาติเมื่อวางไว้ดีแล้ว ต้องเป็นหลักของประเทศ ไม่ใช่ว่าใครเข้ามาแล้วก็มาเปลี่ยนตามใจชอบ

 

สอดรับกับแนวคิดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ (มศว) ที่ว่า ขณะที่บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ สนช.จะดูแลเฉพาะงานที่ตัวเองถนัดเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ควรใช้วิธีแยกกันทำงานในลักษณะที่ว่า ใครถนัดงานไหนแล้วดูแลกันไป โดยไม่ให้ความสนใจเรื่องอื่นคงไม่ได้อีกแล้ว

 

การทำงานของกรรมาธิการในแต่ละด้าน ควรรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ รวบรวมข้อมูลสรุปข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้รับอย่างไม่เป็นทางการอย่างโซเชี่ยลมีเดีย

 

ก็เป็นข้อเสนอแนะที่ควรรับการพิจารณาและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557


โพสเมื่อ : 14 ต.ค. 57   อ่าน 1324 ครั้ง      คำค้นหา :