คสช.จี้ ’สกอ.’ ตรวจระบบประเมิน สมศ.ชะลอวัดผลอาชีวะ
คสช.จี้ 'สกอ.' ตรวจระบบประเมิน สมศ.ชะลอวัดผลอาชีวะ
'คสช.'สั่ง สกอ.ตรวจสอบระบบประเมินคุณภาพของ สมศ. หากพบไม่สะท้อนผลงานแท้จริง ให้ระงับทันทีจนกว่า จะกำหนดวิธีการที่เหมาะสม นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยหลังเข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกำกับดูแล สมศ. ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ได้รายงานผลการดำเนินงานของ สมศ.ในไตรมาส 3 ภาพรวมการประเมินรอบ 3 รวมถึงร่างตัวบ่งชี้รอบ 4 ที่จะประเมินสถานศึกษา พ.ศ.2559-2563 โดยชี้ให้เห็นว่ายึดตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษาและพันธกิจของมหาวิทยาลัย แล้วนำมาวิจัยและวิเคราะห์ร่วมกับผลประเมินตั้งแต่รอบ 1-3 ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ขอให้เน้นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ให้ชัดเจน อาทิ คุณสมบัติลูกศิษย์ต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรมที่ควรส่งเสริมให้เป็นรูปธรรมทุกระดับ ครูควรเป็นต้นแบบและสอนให้เด็กเป็นไปตามที่คาดหวัง ส่วนเอกลักษณ์ มหาวิทยาลัยควรมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากกว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทุกสาขา ส่วนกรณี คสช.สั่งชะลอตัวบ่งชี้รอบ 4 นั้น สมศ.เห็นชอบกับคำสั่ง คสช.ที่ชะลอการประกาศตัวบ่งชี้รอบ 4 ระดับอุดมศึกษาไปจนกว่าจะได้รัฐบาล และให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนประกาศใช้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สมศ.ยังเปิดรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงข้อเสนอแนะจนถึงวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เพื่อสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมศ.ในวันที่ 26 สิงหาคม ส่วนที่มหาวิทยาลัยเรียกร้องให้ประเมินตามบริบทของมหาวิทยาลัยนั้น สมศ.ยินดี และขอให้มหาวิทยาลัยทั้ง 4 กลุ่ม คือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ทอมก.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เสนอประเภทของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งระบุว่าจะอยู่ประเภทไหน และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะที่กำกับดูแลเห็นชอบ โดย สมศ.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการบริหาร สมศ.ด้วย นายชาญณรงค์กล่าว ผอ.สมศ.กล่าวว่า ส่วนกรณีสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน และสถาบันการอาชีวศึกษาของรัฐที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี ขอให้ชะลอการประเมินรอบ 4 ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมนั้น ในส่วนสถาบันอาชีวศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีคงไม่น่าห่วง เพราะตัวบ่งชี้ยังไม่เสร็จ ปกติเวลาทำตัวบ่งชี้ สมศ.จะทำตัวหลักๆ ในส่วนของอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกนั้นให้ใช้การเทียบเคียง ซึ่งปลายเดือนสิงหาคมนี้จะหารือเรื่องนี้ ส่วนกรณีอาชีวศึกษาเอกชนคงต้องมาดูว่าประเด็นปัญหาที่ให้ชะลอจริงๆ คืออะไร ซึ่งจะพูดด้วยอารมณ์ไม่ได้ สมศ.ต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภคให้นักศึกษา ผู้ปกครองได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ แทนที่จะชะลอให้ช้าควรจะเร่งให้เร็วขึ้นมากกว่า ส่วนที่มีผู้เสนอให้ยุบ สมศ.นั้น ไม่ได้มีการพูดคุย แต่หากจะบอกว่าให้ยุบ สมศ.แล้วเป็นการคืนความสุขให้ครูอาจารย์ คงเป็นการมองด้านเดียว ปัจจุบันการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น ยืนยันว่า สมศ.ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ต่อ นายจอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกงงที่ สมศ.ปฏิบัติกับอาชีวศึกษาเอกชนคนละมาตรฐานกับอุดมศึกษา ทั้งที่เผชิญปัญหาเดียวกัน ดังนั้น ภายในสัปดาห์นี้สมาคมจะทำหนังสือถึง คสช.เพื่อขอให้สั่งชะลอการประเมินสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนทั้ง 458 ทั่วประเทศไปพร้อมกับระดับอุดมศึกษาเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ภายในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ สมาคมจะรวบรวมตัวบ่งชี้รอบ 4 ที่เป็นปัญหา รวมถึงการดำเนินการของ สมศ.ที่เป็นปัญหาอยากให้แก้ไข ส่งให้ สมศ.พิจารณาด้วย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวกรณี สมศ.ระบุว่าตัวชี้วัดของอาชีวะระดับอุดมฯยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่มีเหตุที่จะชะลอการประเมินนั้น ก็ไม่เป็นไร เมื่อจัดทำตัวชี้วัดเสร็จเมื่อไร ค่อยประเมิน เช่นเดียวกับระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวะที่ สมศ.ระบุว่าไม่เลื่อนประเมิน ยังมีเวลาเหลืออีก 1 ปี กว่าที่จะเริ่มรอบที่ 4 ซึ่งก็พร้อมรับการประเมินถ้าตัวชี้วัดและวิธีการประเมินถูกต้อง เหมาะสม สะท้อนผลงานที่แท้จริง ส่วนกรณี สมศ.จะเลื่อนประเมินรอบ 4 เฉพาะระดับอุดมฯนั้น ถ้าตีความตามหนังสือ คสช.ลงวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่น่าจะแค่ 4 เครือข่ายอุดมศึกษาที่ลงชื่อทำหนังสือถึง คสช.เท่านั้น แต่น่าจะรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งอาชีวะที่เปิดสอนระดับอุดมฯด้วย ดังนั้น สมศ.ควรต้องปฏิบัติตามหนังสือ คสช. นายชัยพฤกษ์เปิดเผยด้วยว่า ภายหลังจากที่ คสช.เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าหารือในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ต่อมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม คสช.ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว 67 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา โดย ศธ. (สกอ.) ตรวจสอบระบบการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสถาบันการอุดมศึกษาของ สมศ. ตามที่มีข้อร้องเรียนว่าการประเมินไม่สะท้อนผลงานที่แท้จริง หากตรวจสอบแล้วพบว่า การประเมินไม่เหมาะสม อาจระงับการประเมินไว้ก่อนจนกว่าจะได้กำหนดวิธีการที่เหมาะสมต่อไป นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า จะขอเข้าพบ คสช.ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อขอปรึกษาเรื่องขอบเขตหน้าที่ของ สกอ.ตามหนังสือของ คสช.ดังกล่าว เพราะหนังสือระบุว่าให้ สกอ.ตรวจสอบระบบประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของ สมศ. ตามที่มีข้อร้องเรียน ซึ่งที่ 4 เครือข่ายอุดมศึกษาร้องเรียนคือ ให้ระงับหมวด 6 ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติชั่วคราว ซึ่งจะครอบคลุมการประเมินภายในและภายนอกทุกระดับ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ไม่ใช่แค่ระดับอุดมศึกษาอย่างเดียว ดังนั้น ต้องสอบถาม คสช.ว่าขอบเขตการเข้าไปตรวจสอบ สมศ. จะให้ สกอ.ประเมินการทำงานของ สมศ.เฉพาะสถาบันอุดมศึกษา หรือครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และกำหนดระยะเวลาให้ สกอ.ทำงานแล้วเสร็จเมื่อใด รวมถึงกรณีที่ คสช.ระบุว่า สมศ.เห็นชอบที่จะชะลอการประเมินนั้น การเห็นชอบของ สมศ.เห็นชอบแค่ไหน ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน นายชัยพฤกษ์ เลขาธิการ กอศ.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงความคืบหน้ากรณีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะให้สถาบันการอาชีวศึกษาเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาขาดแคลนครูสายอาชีวะใน 9 ประเภทวิชา รวม 86 สาขาวิชา จากทั้งหมด 192 สาขาวิชาว่า ได้หารือกับ นพ.กำจร เลขาธิการ กกอ. และมีข้อแนะนำว่าหลักสูตร ปทส.เป็นการสอนระดับปริญญาตรี ชื่อหลักสูตรน่าจะปรับเปลี่ยนใหม่ ซึ่งตนเห็นด้วย จะพิจารณาว่าจะใช้ชื่ออะไรที่เหมาะสม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรและรายละเอียดต่างๆ เช่น หลักสูตรนี้เดิมจะเรียน 2 ปี แต่เมื่อเปิดสอนใหม่ควรปรับเป็น 3 ปี เพื่อให้สอดรับกับหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่ต้องเรียน 5 ปีหรือไม่ เป็นต้น และเมื่อจัดทำหลักสูตรเสร็จแล้วจะต้องนำเสนอ สกอ.พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอคุรุสภาเพื่อรับรองหลักสูตรให้ผู้ที่เรียนจบมีสิทธิได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จากนั้นจะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อรับรองวุฒิการศึกษาใช้ในการบรรจุเป็นข้าราชการด้วย เลขาธิการ กอศ.กล่าวว่า ประเมินความพร้อมแล้วคาดว่าน่าจะเปิดสอนหลักสูตร ปทส.ได้ในภาคเรียนที่ 2/2558 โดยสาขาวิชาที่จะผลิตเน้นสาขาวิชาขาดแคลนที่สถาบันอุดมศึกษาไม่ผลิต รวมทั้งสาขาที่สถาบันอุดมศึกษาผลิตแต่ไม่เพียงพอ และเป็นสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ด้วย ซึ่งสถาบันการอาชีวศึกษาที่จะเปิดสอนจะต้องมีความพร้อม มีความชำนาญและมีบุคลากรเพียงพอ ซึ่งสาขาวิชาที่จะเปิดสอน เช่น ปิโตรเคมี การควบคุมระยะไกล การตรวจสอบโดยไม่ทำลาย เป็นต้น
--มติชน ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2557 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
05 ส.ค. 57
อ่าน 1607 ครั้ง คำค้นหา :
|
|