สพฐ.ออกมาตรการควบคุมการบ้าน




      

สพฐ.ออกมาตรการควบคุมการบ้าน


          สพฐ.สนองคำสั่งนายกฯ ออกมาตรการควบคุมการบ้าน แจ้งสถานศึกษา ให้การบ้านไม่มาก ไม่ยากเกินไป เน้นงานกลุ่ม  เปิดสอนพิเศษนอกเวลาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่เด็กเรียนอ่อน  หากพบนักเรียนลอกหรือจ้างทำการบ้าน ลงโทษตามระเบียบสถานศึกษา
          นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามคำสั่งเรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้การบ้านนักเรียน แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำชับไปยังสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทุกแห่ง  และขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตามอย่างเคร่งครัดตาม แนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ ดังนี้
          1.ให้ครูพิจารณามอบหมายการบ้านให้นักเรียนอย่างเหมาะสม ไม่ยากเกินไป ไม่มากเกินไป ควรมอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มมากขึ้น เช่น โครงงานต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ในแง่มุมต่างๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริงมากกว่า
          2.ให้ผู้บริหารสถานศึกษานิเทศก์ติดตามการจัดการเรียนการสอนและการให้การบ้านของครูให้เหมาะสม และหากพบว่า นักเรียนมีการลอกหรือจ้างทำการบ้านกันจริง ให้พิจารณาโทษตามระเบียบที่สถานศึกษากำหนดอย่างจริงจัง
          3.ให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้มีการสอนเสริมแก่นักเรียนนอกเวลาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาว่างตามความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้ากว่าเพื่อน หรืออาจจัดให้มีคลินิกเพื่อนช่วยเพื่อนเรียน หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยนักเรียนให้ได้บรรลุผลตามหลักสูตร และ 4.ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษากำชับผู้บริหารสถานศึกษาให้ติดตามสอดส่องการให้การบ้านของ นักเรียนอย่างใกล้ชิด
          การให้การบ้านมีข้อดีตามที่นักวิชาการได้วิเคราะห์ไว้เพราะจะทำให้เด็กได้ ทบทวนทักษะ การฝึกความรับผิดชอบและการฝึกวินัย แต่การให้การบ้านที่มากไปจะทำให้เด็กต้องใช้เวลาทำการบ้านมาก ส่วนตัวเห็นว่าเด็กไม่ควรทำการบ้านไม่เกินชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นจำนวนข้อต้องลดลงโดยอาจารย์รายระดับชั้นต้องมาพูดคุยกันในแต่ละวิชา เพื่อตกลงกันในการที่จะให้การบ้านเด็กไม่มากเกินไป  อีกทั้งการบ้านต้องไม่ยากเกินไปจนเด็กต้องไปจ้างคนอื่นทำ
          นายกมล กล่าวอีกว่า แนวปฏิบัติที่กำหนดออกมา ของสพฐ.เป็นการกลั่นกรองมาจากข้อเสนอแนะของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตลอดจนความเห็นของบุคคลต่างๆ ในสังคม ซึ่งการรับจ้างทำการบ้านเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและจะมีผลต่อการทำลายคุณภาพ การศึกษาของประเทศในอนาคตโดยอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์

         

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


โพสเมื่อ : 29 ส.ค. 57   อ่าน 1339 ครั้ง      คำค้นหา :