4 โจทย์ใหญ่ปฏิรูปการศึกษาไทยทำเชื่อมโยง’ทักษะผู้เรียน
นายพลสัณฑ์ โพธิ์ศรีทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่าการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ในช่วง 4-5 ปีมานี้ จะเห็นว่าทุกฝ่ายมุ่งไปที่การปฏิรูปครูเป็นลำดับแรก ทั้งที่ความจริงแล้วการปฏิรูปการศึกษาต้องยึดโยงที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ เพราะเด็กคือเป้าหมายที่สะท้อนคุณภาพการศึกษาทั้งหมด ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาไม่ว่าด้านใดก็ตาม ต้องกำหนดให้การพัฒนาเด็กมาเป็นตัวชี้วัด ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้กันทั่วโลก แต่การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา กลับเลือกใช้วิธีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ทั้งที่ พ.ร.บ.หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เพิ่งใช้ได้ไม่กี่ปี และยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างสมบูรณ์ก็โทษว่าการที่คุณภาพการศึกษาไม่ดีเพราะหลักสูตรไม่ดีฉะนั้น ตนจึงคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องหันมาตั้งโจทย์เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยใหม่ นายพลสัณฑ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาใหม่ ต้องให้เด็กเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังนี้ 1.กำหนดสมรรถนะด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะของเด็กไทยที่ต้องการในอนาคต 10-20 ปี ซึ่งต้องกำหนดให้ชัดว่าคุณลักษณะที่คาดหวังของเด็กแต่ละช่วงชั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งต้องกำหนดตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยเฉพาะเมื่อจบอาชีวะหรืออุดมศึกษาในแต่ละวิชาชีพนั้นควรมีสมรรถนะและคุณลักษณะแบบใด 2.พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน กำหนดกิจกรรมกระบวนการที่จะนำไปพัฒนาเด็กให้มีสมรรถนะและคุณลักษณะตามที่กำหนดกันไว้ ซึ่งการพัฒนาหลักสูตร ต้องร่วมกันพัฒนา ไม่จำกัดแค่ว่าต้องเป็นเฉพาะวงการศึกษา แต่ทำได้ทุกที่ทั้งที่บ้าน ชุมชนและสังคม เพียงแต่ต้องวางแผนเชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือ3.กำหนดสมรรถนะและคุณลักษณะของครูไทย และต้องนำไปใช้ทั้งการผลิตครูใหม่และพัฒนาครูประจำการให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคโลกาภิวัตน์ และ 4.พัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลในแต่ละด้านทั้งคุณภาพเด็ก คุณภาพหลักสูตร การพัฒนาครู กระบวนการผลิตครูและระบบการศึกษาคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมประเมิน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นต้น ไม่ใช่ให้ผู้ผลิตครูหรือผู้ใช้ครูมาทำหน้าที่ประเมิน ทั้งนี้หากดำเนินการตาม4 แนวทางอย่างเชื่อมโยงเชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูป การศึกษาของไทย--จบ-- ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ |
โพสเมื่อ :
19 ส.ค. 57
อ่าน 1431 ครั้ง คำค้นหา :
|
|