![]() |
สพฐ.เผยประเมินครูภาษาอังกฤษต้องได้คะแนน
ในระดับสูงกว่าที่สอน ใช้โรงเรียนเป็นสนามสอบและมีผู้คุมสอบเพื่อป้องกันโกง
โดยให้เวลาทำแค่ 1 ชั่วโมง ยันผลที่ได้ไม่เกี่ยววิทยฐานะ
ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ต้องเข้าอบรม นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.)
กล่าวถึงการวัดผลประเมินครูภาษอังกฤษที่จะมีการจัดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน
มีนาคม-เมษายนนี้ ว่า โดยใช้แบบทดสอบมาตรฐานการประเมินความสามารถทางภาษา
หรือ Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)
ซึ่งแบบทดสอบนี้จะเน้นทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
ฟัง อ่าน พูด เขียน โดยตัวแบบทดสอบจะกำหนดสถานการณ์ต่างๆ
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทดสอบได้ตอบคำถาม เช่น
การฟังจะมีการทดสอบการฟังบทสนทนาต่างๆ, การฟังการอ่านบทความ เป็นต้น
เนื่องจากข้อสอบดังกล่าวเป็นระบบที่ปฏิบัติการแบบออนไลน์
ทำให้ข้อสอบของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน
และขณะที่ครูทำข้อสอบก็จะมีการประเมินอยู่ตลอด เช่น
หากครูทำข้อสอบในระดับง่ายได้อย่างรวดเร็ว
ระบบก็จะส่งข้อสอบที่มีระดับสูงขึ้นมาให้ครูทดลองทำ เป็นต้น ทั้งนี้ ระดับการวัดความสามารถในการทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 6 ระดับคือ
A1 สามารถเทียบกับความรู้ด้านภาษาอังกฤษของเด็กระดับประถมศึกษา
หรือเทียบคะแนน TOEIC 0-110 คะแนน, A2
สามารถเทียบกับความรู้ด้านภาษาอังกฤษของเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
หรือเทียบคะแนน TOEIC 110-250 คะแนน, B1
สามารถเทียบกับความรู้ด้านภาษาอังกฤษของเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หรือเทียบคะแนน TOEIC 255-400 คะแนน, B2
สามารถเทียบกับความรู้ด้านภาษาอังกฤษของเด็กในระดับอุดมศึกษา
หรือเทียบคะแนน TOEIC 405-600 คะแนน, C1
สามารถเทียบกับความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่มีเกือบจะเทียบเท่าเจ้าของภาษา
หรือเทียบคะแนน TOEIC 605-780 คะแนน และระดับสุดท้าย C2
สามารถเทียบกับความรู้ด้านภาษาอังกฤษเทียบเท่ากับเจ้าของภาษา
หรือเทียบคะแนน TOEIC 785-990 คะแนน อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบสอบครั้งนี้ตนได้มอบหมายให้เขตพื้นที่ฯ
ที่เข้าร่วมการประเมินจัดหาโรงเรียนที่มีความพร้อมทางด้านคอมพิวเตอร์
เพื่อใช้เป็นสนามในการจัดการทดสอบ และแต่ละห้องสอบจะมีผู้คุมสอบอยู่ด้วย
เนื่องจากตัวแบบทดสอบเป็นลักษณะออนไลน์ที่มีเวลาในการทำเพียง 1
ชั่วโมงเท่านั้น
และตัวแบบทดสอบซึ่งเป็นโปรแกรมจะส่งข้อสอบระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ
เข้ามาทดสอบครู หากมีการทำมั่ว หรือทำผิดซ้ำๆ
แบบทดสอบจะส่งข้อสอบในระดับเดิมซ้ำๆ จนหมดชั่วโมง
จะไม่มีการเลื่อนไปในระดับที่ยากขึ้น แต่ถ้าหากทำข้อสอบได้
โปรแกรมก็จะส่งข้อสอบระดับที่ยากขึ้นมาให้ทำอีกเรื่อยๆ จนหมดชั่วโมง
ซึ่งผลการทดสอบที่ได้ โปรแกรมจะทำหน้าที่ประมวลผลเอง สำหรับเกณฑ์การพิจารณา นายกมลกล่าวว่า ครูที่ผ่านเกณฑ์ควรจะมีครูที่ทำการประเมินที่จะได้ระดับความสามารถมากกว่าระดับที่ตนสอนอยู่ในปัจจุบัน เช่น หากสอนระดับประถมก็ควรจะได้ระดับการสอนระดับมัธยม เป็นต้น แต่หากได้ผลประเมินน้อยกว่าก็จะต้องมีการเข้าอบรมและพัฒนาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การทดสอบในครั้งนี้จะไม่มีผลต่อการปฏิบัติงานหรือวิทยฐานะของครูแต่อย่างใด เพราะเป็นการประเมินเพื่อจับกลุ่มและวัดระดับความสามารถของครูเท่านั้น และหากจะนำมาใช้เพื่อกำหนดวิทยฐานะของครูแล้ว ลักษณะข้อสอบจะต้องมีความละเอียด มีระดับที่ยาก และต้องมีเวลาทำแบบทดสอบอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง |
โพสเมื่อ : 09 มี.ค. 58 อ่าน 1696 ครั้ง คำค้นหา : |