จับทิศ ธุรกิจการศึกษา ปี 58 เปิด 5 ประเด็นร้อนจับตลาดแสนล้าน
รอบปีที่ผ่านมาสถานการณ์แวดวงการศึกษาไทยตกอยู่ใน
ภาวะการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
หลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2556
และด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 2 ครั้ง
ยิ่งทำให้ความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษาชะงักงันและไม่ต่อเนื่อง
เพราะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ต้องขานรับและปฏิบัติตามแนวคิดของเจ้ากระทรวงคนใหม่
หากมองในฝั่งของภาคเอกชนที่ทำธุรกิจการศึกษาส่วนใหญ่แล้วก่อนหน้านี้จะ
บอกว่าแม้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการเมืองอยู่บ้าง
แต่ไม่เจ็บตัวเท่าไรนัก
เนื่องจากคนมักมองเห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ สำหรับชีวิต
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตการเมืองมาเกือบ 2 ปี
บวกกับเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง จึงทำให้ผลกระทบจาก
ทั้งสองปัจจัยค่อย ๆ สั่งสมและซึมลึก
พ่นพิษสู่ธุรกิจการศึกษาครั้งใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "ประชาชาติธุรกิจ"
จึงประมวล 5 สถานการณ์จากปีที่ผ่านมา
ซึ่งมีผลสืบเนื่องและเป็นทิศทางที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2558
หนึ่ง กวดวิชาอ่วมเตรียมโดนรีดภาษี เป็นประเด็นร้อนของทุกปี
เพราะสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
จะชงเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.)
ในทุกรัฐบาลให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาโดยเมื่อกลางเดือน
ธ.ค. 2557 ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการที่ ป.ป.ช.เสนอมา และให้
ศธ.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำเป็นรายละเอียดในการปฏิบัติ
เพื่อเสนอกลับมายัง ครม.อีกครั้งภายใน 30 วัน
ผลเช่นนี้จึงมีผลต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
ซึ่งเป็นหน่วยงานของ ศธ.ที่เกี่ยวข้องโดยตรง หากดูจากทีท่าของเลขาธิการ
"บัณฑิต ศรีพุทธางกูร" เหมือนจะตกอยู่ในภาวะอีหลักอีเหลื่อ
โดยเขาบอกว่าที่ผ่านมาเคยมีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยกันแล้วหลายครั้ง
และกรมสรรพากรมีข้อสรุปว่าไม่ควรเก็บ
เพราะจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องจ่ายค่าเรียนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สช.ต้องดำเนินการตามคำสั่งของ
ครม.โดยเห็นว่าหากต้องเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาจริง ๆ
คงต้องดูจากรายได้เป็นหลัก หากถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้จึงค่อยเสียภาษี
ขณะที่ฟากของโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธการเสียภาษี
แต่ต้องการความชัดเจนว่าจะเก็บภาษีในรูปแบบใด
และจัดเก็บกับกลุ่มโรงเรียนเอกชนประเภทใดบ้าง ทั้งนั้น
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าข้อสรุปจากรัฐจะเป็นอย่างไรในปลายเดือน ม.ค.นี้
สอง บูมโรงเรียนนานาชาติ การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนหลังสิ้นเดือน ธ.ค. 2558
จะเป็นการเปิดมิติใหม่ด้านการศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจภาษาอังกฤษ
ซึ่งผู้ปกครองต่างก็ให้ความสำคัญถึงประเด็นนี้อย่างมาก
โดยคนที่มีกำลังทรัพย์สูงเลือกที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติ
เพื่อเตรียมวางรากฐานชีวิตให้ลูกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยจะมีโรงเรียนนานาชาติเปิดใหม่ปีละ 3-5 แห่ง
และมีแนวโน้มเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
รองรับจำนวนนักเรียนที่มากขึ้นจากทั้งเด็กไทยและต่างชาติ
ซึ่งไม่เพียงแต่โรงเรียนนานาชาติสัญชาติไทย
ยังมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาชิมลาง
อาจเพราะมองเห็นว่าทำเลที่ตั้งของไทยน่าจะเป็นฮับทางการศึกษาของเอเชียใน
อนาคต
อย่างนักลงทุนจาก เครือเอบีซี พาทเวย์ส กรุ๊ป (ABC Pathways Group) ฮ่องกง
ที่เข้ามาเปิดโรงเรียนอนุบาลนานาชาติเอบีซีพาทเวย์ส ที่ซอยสุขุมวิท 31
ทั้งยังมีแผนเปิดสอนระดับประถมศึกษาเพิ่มที่ซอยสุขุมวิท15 ในอีก 2
ปีข้างหน้า ขณะที่ฝั่งผู้เล่นรายเก่า อย่างโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์
ซึ่งมี 2 แคมปัส ทั้งที่เขาใหญ่และกรุงเทพฯ ก็มีแผนโยกแคมปัสกรุงเทพฯ
ที่อยู่บนพื้นที่ 22 ไร่ บริเวณถนนวิภาวดี-รังสิตไปยังพื้นที่ใหม่
รองรับนักเรียนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,000
คนโดยพื้นที่ใหม่จะอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ
สาม สถาบันสอนภาษาอังกฤษรับอานิสงส์เปิดเออีซี
นอกเหนือจากการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้โรงเรียนนานาชาติได้รับความสนใจมาก
ขึ้น ยังส่งผลให้ตลาดธุรกิจสถาบันสอนภาษาอังกฤษกระเตื้องขึ้นอีกด้วย
เพราะเมื่อมิติของพรมแดนเลือนหายไป
การติดต่อสื่อสารและการทำงานกับประเทศอื่นต้องอิงภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษ
เป็นหลัก นั่นหมายความว่าผู้ใหญ่วัยทำงานต้องพัฒนาทักษะด้านภาษาของตัวเอง
ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมา สถาบันภาษาหลายแห่งขยายสาขาเพิ่มเติม เช่น
สถาบันภาษาอีซีซี (ECC) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 44 สาขา ก็ขยายสาขาเพิ่มเติมปีละ
3-4 แห่ง ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษเอ็นคอนเซ็ปต์ อี อคาเดมี
(En-concept E-Academy) ก็เห็นโอกาสของตลาดส่วนนี้
จึงขยายการดำเนินงานมาสู่ธุรกิจเกี่ยวกับทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ
ทั้งการฟังพูด อ่าน เขียน ด้วยการเปิดแบรนด์ Qualish
ที่จะจับกลุ่มนักเรียนประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษา
และเตรียมเปิดแบรนด์ใหม่สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่
สี่ มหาวิทยาลัยแห่เปิดแคมปัสใหม่
มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเดินหน้าลงทุนเพิ่ม
ทั้งรีโนเวตแคมปัสเดิมให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมถึงขยายแคมปัสแห่งใหม่
โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรจะเปิดซิตี้แคมปัสที่เมืองทองธานี
สำหรับรองรับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในปีการศึกษา 2558
หลังจากที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 3 แคมปัส
ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีมาสเตอร์แพลนรีโนเวตมหาวิทยาลัยด้วยการทุบ
ตึกเก่าเพื่อสร้างเป็นตึกสูง 3-4 ตึก
พร้อมเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษา ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตเตรียมเปิดแคมปัสแห่งที่ 2 บนพื้นที่ 500 ไร่
ใน อ.เมือง จ.นครปฐม ใช้งบประมาณเบื้องต้น500 ล้านบาท
โดยจะย้ายวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
และวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ไปเปิดสอนก่อน
ห้า ค่ายใหม่ ๆ กระโดดจัดงานมหกรรมการศึกษา
ปกติแล้วงานมหกรรมการศึกษาที่จัดเป็นประจำทุกปี
คืองานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (Educa) ที่มีบริษัท ปิโก
(ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เป็นแม่งาน หรืองานที่จัดทุก ๆ สองปี
อย่างเวิลด์ไดแด็ค เอเชีย ของสมาคมเวิลด์ไดแด็ค ที่จัดงานร่วมกับบริษัท
รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด
บริษัทในเครือของค่ายอักษรเจริญทัศน์
ซึ่งเป็นผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอนได้จัด
"การสัมมนาผู้นำทางการศึกษาแห่งประเทศไทย" เป็นงานที่ให้ผู้กำหนดนโยบาย,
ผู้บริหารสถานศึกษา และครูได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
และรับฟังแนวทางความสำเร็จของการศึกษาจากประเทศชั้นนำ
ฉะนั้น การกระโดดเข้ามาจับตลาดการศึกษาของอักษร
เอ็ดดูเคชั่นครั้งนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าตลาดด้านมหกรรมการศึกษา
ของไทยยังมีช่องว่างอยู่
และถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่หอมหวนน่าลิ้มลองด้วยคนจำนวนมากที่อยู่ในระบบการ
ศึกษา ตั้งแต่ผู้อำนวยการ, ครู อาจารย์, นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น
หากบริษัทสามารถเข้าไปจับตลาดคนกลุ่มนี้ได้ ย่อมหมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะตามมาในภายหลัง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 ม.ค. 2558 |
โพสเมื่อ :
05 ม.ค. 58
อ่าน 1390 ครั้ง คำค้นหา :
|
|