![]() |
อุดมศึกษาเอเชียขยายตัวเร็ว ยูเนสโก วิจัยอุดมศึกษาเอเชีย พบขยายตัวอย่างก้าวกระโดด บางประเทศมีผู้เรียนระดับ ป.ตรี เพิ่มถึง 4 เท่า ในช่วงเวลา 5 ปี เตือนระวังคุณภาพ โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนอาจารย์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และองค์การยูเนสโก เปิดตัวรายงานวิจัย Higher education in Asia : Expanding Out , Expanding Up การก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยในเอเชีย : ตีแผ่ยุทธศาสตร์สู่มหาวิทยาลัยระดับโลก เจี๋ยนเฉลี่ยวหลิง นักวิจัยและนักวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษาทั่วโลกประจำสถาบันด้านสถิติยูเนสโก หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า รายงานดังกล่าวจัดทำโดยทีมนานาชาติ ใช้เวลาจัดทำประมาณ 2 ปี และสืบค้นข้อมูลย้อนหลังไปกว่า 20 ปี เพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านอุดมศึกษาของเอเชีย พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุดมศึกษาของเอเชียขยายตัวอย่างรวดเร็ว บางประเทศเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4 เท่าในเวลา 5 ปี มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดหลักสูตรใหม่ๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานที่มีทักษะประกอบอาชีพสูงขึ้น หลายประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนประเทศในอาเซียนอย่างไทยและมาเลเซียประสบความสำเร็จพอควร ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและสามารถเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมได้จะส่งผลทางอ้อมให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ศ.เดวิด ดับเบิลยู เช็ปแมน มหาวิทยาลัยมินนิโซตา หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ขณะที่อุดมศึกษาในเอเชียขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพ จากการวิจัยพบว่า เริ่มเห็นปัญหาในหลาย ประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณภาพมาเติมให้แก่การขยายอุดมศึกษา อย่างเช่น ประเทศจีนมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกและปริญญาโทเพียงร้อยละ 15 และ 35 ตามลำดับ ส่วนประเทศเวียดนามมีร้อยละ 14 และ 46 สำหรับประเทศไทยและมาเลเซียเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาอุดมศึกษาสำหรับประเทศในกลุ่ม Middel Income countries ประเทศรายได้ปานกลาง สามารถขยายการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก เพิ่มงานวิจัย ขณะเดียวกันอุดมศึกษาของไทยก็มีอิสระทางความคิดและมีความมุ่งมั่นในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดี ม.มหิดล และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียสนับสนุนการวิจัยของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น เกาหลีใต้ทุ่มงบสนับสนุนการวิจัยร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ญี่ปุ่น ร้อยละ 3.4 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.2 จีน ร้อยละ 1.1 มาเลเซีย ร้อยละ 0.8 และไทย ร้อยละ 0.25 ประเทศจีนและสิงคโปร์ มีความแข็งแกร่งทางด้านการวิจัยอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2008-2011 จีนมีงานวิจัยในระดับเวิลด์คลาสถึง 53 ชิ้น ส่วนสิงคโปร์ 37 ชิ้น ฮ่องกง 22 ชิ้น ญี่ปุ่น 16 ชิ้น เกาหลีใต้ 14 ชิ้น มาเลเซีย 6 ชิ้น ส่วนไทยยังไม่มีงานวิจัยในระดับเวิลด์ คลาส ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ : 20 พ.ค. 57 อ่าน 1498 ครั้ง คำค้นหา : |