สพฐ.วางกรอบขยายโอกาสเปิด ม.ปลาย




      

สพฐ.วางกรอบขยายโอกาสเปิด ม.ปลาย

         นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาจำนวนมากขอเปิดสอนระดับมัธยมปลาย (ม.ปลาย) บนความไม่พร้อมโดยเฉพาะเรื่องครูผู้สอน ซึ่งในการประชุมบอร์ด กพฐ. ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธาน กพฐ. ได้ตั้งคำถามว่า โรงเรียนขยายโอกาสจะเป็นโรงเรียนประถมหรือมัธยม เพราะบางโรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึง ม.ปลาย ซึ่งต้องยอมรับว่าบางแห่งมีความจำเป็นต้องเปิดถึง ม.ปลาย เพราะโรงเรียนมัธยมอยู่ห่างไกลมาก และเป็นชุมชนใหญ่ แต่บางพื้นที่ก็อยู่ไม่ไกลและการคมนาคมก็เจริญ
          โรงเรียนเหล่านี้มักมีปัญหาขาดครู เนื่องจากเวลาเรียกบรรจุครูโรงเรียนขยายโอกาสมักไม่มีคนเลือกทั้งที่เรียกบรรจุจำนวนมาก ทำให้ระยะแรกของโรงเรียนขยายโอกาสต้องจ้างครูมัธยมที่เกษียณอายุราชการไปแล้วให้กลับมาสอน แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน จึงต้องมีการทบทวนกันใหม่ว่ามีความจำเป็นต้องเปิดจริงๆ และต้องถามโรงเรียนเหล่านี้ด้วยว่าจะเปิดเป็นโรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนประถม ถ้าเลือกเป็นมัธยม ต้องเลือกรับประถมในปีการศึกษาหน้า โดยหยุดรับอนุบาล กับ ป.1 แต่หากเลือกเป็นประถมก็ต้องหยุดรับ ม.4
          ทุกวันนี้มีโรงเรียนหลายร้อยโรงที่ตั้งอยู่บนความขาดแคลนเรื่องครู จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องศึกษาและตัดสินใจ ถามโรงเรียนว่าจะเลือกเป็นโรงเรียนประถมหรือมัธยม เพราะถ้าเป็นมัธยมก็เปิดถึง ม.ปลาย แต่ถ้าเป็นโรงเรียนขยายโอกาสเปิดแค่ ม.ต้น ก็เป็นไปตามหลักการเดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ เพราะไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงาน ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องทำเรื่องนี้ มิฉะนั้นอีก 5-10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะไม่มีคนทำงาน เพราะมุ่งเรียนแต่ปริญญากันหมด ดังนั้น หากนโยบายรัฐบาลเน้นส่งเสริมผลิตกำลังแรงงาน สพฐ.ก็ต้องเปลี่ยนนโยบายการขยายชั้นเรียนเพิ่มในระดับ ม.4 เช่น จากเดิมที่อนุญาตให้โรงเรียนเปิด ม.4ได้ 8 ห้องเรียน ก็ต้องคงเดิมไม่ขยายห้องเรียนเพิ่ม
          เราต้องเข้าใจว่า สภาพปัญหาว่าประเทศไทยขาดแคลนกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถจ้างคนจบปริญญาตรีได้ เพราะไม่ได้ฝึกทักษะ แต่สถานศึกษาอาชีวะฝึกให้ ทำให้เด็กที่จบอาชีวะมีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานง่ายกว่าคนจบปริญญาตรีที่ต้องไปฝึกอบรมเพิ่มทำให้เสียเวลา เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

          --คมชัดลึก ฉบับวันที่ 29 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 29 ม.ค. 57   อ่าน 1460 ครั้ง      คำค้นหา :