พลิกตำราสกัดกลโกงครูผู้ช่วย โค้งสุดท้ายของการสอบแข่งขันคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งจะมีการสอบภาค ก ในวันที่ 19 เมษายน, ภาค ข วันที่ 20 เมษายน และตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนเป็นต้นไป จะทยอยสอบภาค ค การสัมภาษณ์นั้น แม้จะยังไม่มีเบาะแสการทุจริตเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุให้จับตาขบวนการทุจริตเจ้าเดิม ที่กำลังเตรียมการทุจริตสอบครูผู้ช่วยในรอบใหม่นี้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคอีสาน หรือแม้จะมีกระแสข่าวติวข้อสอบทางภาคอีสานเล็ดลอดออกมาบ้าง แต่เมื่อนักข่าวในพื้นที่ไปสังเกตการณ์ ก็พบเพียงการติวข้อสอบธรรมดาๆ ยังไม่พบอะไรที่เป็นพิรุธนั้น อย่างไรก็ดี การออกมาตรการสกัดการทุจริตเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเมื่อครั้งนี้มีผู้สมัครสอบมากถึง 104,545 คน จาก 89 เขตพื้นที่ฯ และ 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ขณะที่มีอัตราว่างในการบรรจุรอบแรกแค่ 1,888 อัตราเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นนักวิชาการวิเคราะห์ว่าหากจะมีการทุจริต รูปแบบก็น่าจะแนบเนียนมากขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอนการสัมภาษณ์ ภาค ค ที่ใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการในการให้คะแนน ที่อาจมีการวิ่งเต้นหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องได้ แม้ว่า นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะออกโรงการันตีถึงหลักเกณฑ์การให้คะแนนภาค ค ว่าจะสร้างความยุติธรรม แล้วก็ตาม ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถคลายความกังวลของสังคมไปได้ นอกจากนี้ นักวิชาการวิเคราะห์มองว่า หากจะมีการทุจริต รูปแบบก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ส่วนกลางน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการนำข้อสอบและเฉลยออกไปขายให้กับกลุ่มขบวนการทุจริต แล้วเกิดการโกงการสอบทั่วประเทศ แต่รอบนี้เมื่อมีการกระจายอำนาจในการดำเนินการออกข้อสอบ จัดสอบและตรวจข้อสอบ ให้กับเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง ก็สามารถจำแนกกลุ่มที่จะทำการทุจริตได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มบุคคลภายนอกที่จะทำการทุจริตในห้องสอบ และ 2.กลุ่มบุคคลภายในที่มีอำนาจในการออกข้อสอบเอง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตลอดจนเขตพื้นที่การศึกษาที่เปิดสอบ จึงต่างงัดมาตรการต่างๆ มาป้องกันการทุจริต ตลอดจนเพื่อให้การจัดสอบครั้งนี้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด อย่าง สำนักงาน ก.ค.ศ. จัดตั้งศูนย์อำนวยการประสานงานการสอบแข่งขันฯ ที่สำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน วินิจฉัย ตัดสินใจและแก้ไขปัญหา โดยหากใครพบพฤติการณ์หรือสิ่งที่ส่อไปในทางไม่สุจริต สามารถแจ้งเบาะแสโดยตรงที่ นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ. โทรศัพท์ 08-1913-1278, นายอภิชาติ โทรศัพท์ 09-8463-7725, 09-8463-7723, 08-1913-1278, นายวิวัฒน์ แหวนหล่อ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. โทรศัพท์ 08-1848-8256, นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. โทรศัพท์ 08-9203-8172, นายศรีชัย พรประชาธรรม โทรศัพท์ 08-4700-9852 หรือสำนักงาน ก.ค.ศ. โทรศัพท์ 0-2280-2840 นอกจากนี้ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ยังได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เปิดสอบ เพื่อกำชับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบโดยเคร่งครัด เช่น ไม่เข้าห้องสอบก่อนได้รับอนุมัติ นั่งอยู่ในห้องสอบจนหมดเวลาทำข้อสอบ และ ก.ค.ศ. ยังได้ตั้งผู้แทน ก.ค.ศ. เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ติดตาม เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการสอบ หากตรวจสอบพบว่าการดำเนินการสอบแข่งขันมีการทุจริตหรือส่อไปในทางไม่สุจริตหรือดำเนินการผิดพลาดอันอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ให้รายงาน ก.ค.ศ. ทราบทันที ส่วน สพฐ. ส่งหนังสือถึงหน่วยจัดสอบ แจ้งถึงแนวปฏิบัติตามมาตรการสอดส่อง ป้องกันข้อสอบรั่วไหลและรู้ทันกลเม็ดการทุจริตการสอบ 3 ช่วง ได้แก่ 1.ก่อนสอบ เตรียมความพร้อมและกำหนดขั้นตอนการดำเนินการให้รัดกุม การจัดเตรียมสถานที่ห้องมั่นคงจัดเก็บข้อสอบ กระดาษคำตอบ ตั้งกรรมการในทางลับตรวจสอบข้อมูลและสดับตรับฟังข้อมูลการทุจริต 2.ระหว่างสอบ ให้มีคนสังเกตการณ์ ขอความร่วมมือตำรวจดูแลสนามสอบ กรรมการกำกับการสอบให้สับเปลี่ยนแต่ละวัน ห้ามผู้เข้าสอบนำเอกสาร กระเป๋าต่างๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเข้าห้องสอบ จัดอุปกรณ์ดักจับสัญญาณโทรศัพท์หรือเครื่องมือการสื่อสาร การตรวจหลักฐานผู้เข้าสอบ ได้แก่ บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบหรือบัตรแทน หากไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐมาแสดง ไม่ควรให้เข้าสอบ รวมถึงห้ามลุกออกจากโต๊ะที่นั่งและไม่อนุญาตให้ออกจากห้องสอบจนกว่ากรรมการกำกับการสอบจะเก็บกระดาษคำตอบและตรวจนับกระดาษคำตอบเรียบร้อย และ 3.หลังการสอบ จะต้องนับและตรวจกระดาษคำตอบให้ครบถ้วนถูกต้องตามจำนวนและระมัดระวังมิให้ผู้เข้าสอบนำข้อสอบ กระดาษคำตอบ ออกจากห้องสอบ ขณะเดียวกัน สพฐ. ยังได้กำชับให้จับตาพฤติกรรมในการทุจริต อาทิ ระมัดระวังบุคคลที่แอบอ้างตนเป็นคนสนิท ใกล้ชิดหรือสนิทกับญาติผู้อำนวยการ หรือผู้ใหญ่ในวงการศึกษา วงการราชการ หรือกรรมการดำเนินการสอบ ว่าจะสามารถช่วยให้ผู้สมัครสอบด้วยวิธีต่างๆ เช่น อ้างว่าสามารถนำข้อสอบมาให้ศึกษาดูก่อนได้ และเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากผู้สมัครสอบที่หลงเชื่อ พฤติกรรมหลอกลวงเหล่านี้มีเกิดขึ้นเสมอหรือที่เรียกว่า ตกเบ็ดเมื่อสอบไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ ก็จะเกิดความวุ่นวายตามมา ตลอดจนขอให้เฝ้าระวังอาจมีกรณีการสอบแทนกัน โดยวิธีหาคนเก่งมาสอบ ใช้วิธีฝนรหัสแลกเปลี่ยนกันหรือวางแผนมาสมัครสอบให้ได้ที่นั่งใกล้กันเพื่อดูกัน กรณีนี้กรรมการกำกับห้องสอบ จะต้องตรวจการฝนรหัสประจำตัวสอบให้ตรงกับรหัสของผู้เข้าสอบก่อนที่จะให้ข้อสอบและออกจากห้องสอบไป ขณะที่เขตพื้นที่ฯ ที่เป็นหน่วยจัดสอบต่างออกมาตรการต่างๆ มาป้องกันการทุจริต อาทิ หากผู้สอบผมยาวต้องรวบหนังยางให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการซุกซ่อนอุปกรณ์สื่อสารหรือ อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการทุจริตสอบไว้ในบริเวณศีรษะและลำคอ การตรวจสอบลายนิ้วมือผู้สมัครสอบ เป็นต้น คงต้องจับตามองว่าหลายฝ่ายร่วมแรงร่วมใจออกสารพัดมาตรการสกัดกลโกงขนาดนี้แล้ว จะสามารถสยบการทุจริตได้มากน้อยแค่ไหน เร็วๆ นี้คงรู้คำตอบ --มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 เม.ย. 2557-- |
โพสเมื่อ : 18 เม.ย. 57 อ่าน 1525 ครั้ง คำค้นหา : |