เสียงสะท้อนมุม "พนักงานมหาวิทยาลัย" กับคำถามต่อ"การจ้างงาน"ในระบบการศึกษา



ในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีหรือ ครม.มีมติให้ทุกมหาวิทยาลัยเตรียมออกนอกระบบ และยกเลิกการบรรจุข้าราชการโดยว่าจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยระบบสัญญาจ้าง แทน เรียกว่าพนักงานมหาวิทยาลัย และให้มหาวิทยลัยจัดสิทธิประโยชน์ให้ไม่ต่ำกว่าระบบราชการเดิม และมีเงินเดือนสูงขึ้น 1.7 เท่าของฐานเงินเดือนราชการปัจจุบัน

แม้มติครม. ดังกล่าวระบุรายละเอียดที่น่าพอใจแต่ในทางปฏิบัติ มีเสียงสะท้อนว่าหลายมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ปฏิบัติตาม เพราะมีช่องว่างในงบประมาณที่รัฐโอนมาให้แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นงบประมาณหมวด อุดหนุน ให้อำนาจในการจัดสรรกันเอง และมีอิสระในการบริหารงานบุคคลส่งผลกระทบต่อพนักงานมหาวิทยาลัยในหลายด้าน ทั้งเงินเดือนที่ไม่ได้รับในอัตราที่สัญญาไว้จริง และสิทธิรักษาพยาบาลที่ด้อยกว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจ และรับราชการเดิม

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา เล่าว่า หลังจากมีมติจาก ครม. ในปี 2542 ที่ให้อำนาจสภาแต่ละมหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงานบุคคล ทำให้ให้กลุ่มอาจารย์ที่เข้ามาด้วยระบบพนักงานมหาวิทยาลัยไม่กล้าเรียกร้อง หรือวิจารณ์ในแง่การทำงานของข้าราชการระดับสูงได้เพราะอาจไม่ได้รับการต่อ สัญญาเนื่องจากพนักงานมหาวิทยาลัยถูกพ.ร.บ. ทุกมหาวิทยาลัยระบุว่าไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน หากมีปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะต่อสู้เรียกร้องลำบาก และปัจจุบัน บุคลากรในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีทั้งหมดกว่า 130,000 คน เหลือข้าราชการในระบบกว่า 20,000 คน ซึ่งรศ.ดร.วีรชัย มองว่าพนักงานมหาวิทยาลัยกลายเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดในระบบอุดมศึกษา ไทย

จากระบบดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยสร้างความมั่นคงให้กับ ตัวเองได้ยากเช่นไม่สามารถย้ายหน่วยงานทำงานได้ การทำธุรกรรมทางการเงินก็ลำบาก การยื่นกู้เพื่อเข้าหาแหล่งเงินในการสร้างบ้านหรือลงทุน การอนุมัติเงินกู้จากแหล่งเงินทุนเป็นไปค่อนข้างยาก เพราะสถานภาพการทำงานไม่มั่นคง เนื่องจากเป็นเพียงแค่สัญญาจ้าง และไม่ใช่ระยะยาว นอกจากไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฏหมายแรงงานแล้ว ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบัน อุดมศึกษา หรือ กพอ. ของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะไม่ใช่ข้าราชการ ทำให้มีความเสี่ยงสูง หากเกิดความไม่เป็นธรรมในการว่าจ้าง เป็นต้น

นอกจากนี้พนักงานมหาลัยยังไม่ได้สิทธิ์รักษาพยาบาลแบบข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ต้องหันไปใช้ประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเข้าสถานรักษาพยาบาลในท้องถิ่นได้เพียง 1 แห่งในพื้นที่ และบางครั้งยังได้รับยาที่มีคุณภาพต่ำมาแทน ทำให้อาจารย์หลายกลุ่มทยอยลาออกไปสมัครสอบเป็นข้าราชการในกรม-กองอื่น หรือลาออกไปอยู่ในภาคเอกชนแทน

โดย ดร.วีรชัย เชื่อว่า หากพนักงานมหาวิทยาลัยได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลเทียบเท่าหรือไม่น้อยกว่า รัฐวิสาหกิจหรือระบบข้าราชการเดิมจะช่วยให้กลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัยมีขวัญ กำลังใจในการทำงานที่ดีขึ้นคนดีคนเก่งจะทยอยเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มากขึ้นสมองไม่ไหลออกดังเช่นปัจจุบันซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและ ศักยภาพระบบอุดมศึกษาในอนาคต

ทีมข่าวอยู่ระหว่างติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบถามความคิดเห็น ต่อข้อสังเกตนี้และขอความคิดเห็นเรื่องทางออกและแนวทางแก้ปัญหาให้กับ พนักงานมหาวิทยาลัย

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558


โพสเมื่อ : 10 ก.พ. 58   อ่าน 1416 ครั้ง      คำค้นหา :