![]() |
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา องค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะมีตำแหน่งที่ปรึกษา ซึ่งเป็นนักวิชาการศึกษา ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ หรือเทียบเท่าระดับ 10 ทางวิชาการ แตกต่างกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มี 4 ตำแหน่ง คือ ด้านนโยบายและแผน ด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม ด้านเกษตรกรรม และที่ปรึกษาพาณิชยกรรมและบริการ โดยผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งได้ ต้องอยู่ในระดับ 9 หรือระดับเชี่ยวชาญ แต่ที่ผ่านมา แต่ละแท่ง จะแต่งตั้งระดับ 9 คือ ผอ.สำนัก หรือผอ.สถานศึกษา ให้รักษาการตำแหน่งที่ปรึกษา ควบกับ ตำแหน่งเดิมที่ดำรงอยู่ก่อน เนื่องจากไม่มีผู้บริหารระดับ 10 ที่สามารถขยับมาเป็นที่ปรึกษาได้ ทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ เพราะงานเดิมก็ไม่สามารถหาตัวจริงมาทำงานต่อได้ ขณะตัวเองก็ไม่สามารถขึ้นระดับ 10 เต็มตัวได้ หากยังไม่ทำผลงานทางวิชาการ ส่งให้ กรรมการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประเมิน หากผ่านจึงจะเสนอครม.เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาระดับทรงคุณวุฒิ
เลขาธิการกอศ. กล่าวต่อว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. จึงสั่งการให้แต่ละแท่งไปตกลงกับก.พ. เพื่อขอปรับการกำหนดตำแหน่งที่ปรึกษาใหม่ โดยให้มีระดับตำแหน่ง ต่ำลง 1 ระดับ เพื่อให้ผอ.ที่ควบตำแหน่งอยู่ ลงตำแหน่งที่ปรึกษาได้ ขณะที่ตำแหน่งเดิมสรรหาคนมาทำงานแทนได้ เมื่อมาลงตำแหน่งที่ปรึกษาแล้ว จะต้องส่งผลงาน ให้ก.พ. ภายใน 1 ปี เมื่อผ่าน จึงให้ขยับขึ้นระดับ 10 แต่หากไม่ผ่าน จะต้องส่งใหม่อีกครั้ง ถ้าไม่ผ่านอีก จะต้องกลับตำแหน่งเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นขึ้นแทน เพราะที่ผ่านมาบางคนเมื่อมารักษาการแล้วไม่ทำผลงาน หรือใช้เวลาทำผลงานนาน จึงเกิดปัญหากั๊กตำแหน่งขึ้น เบื้องต้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สอศ. เห็นชอบให้ดำเนินการตามคำสั่งแล้ว
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557 |
โพสเมื่อ : 22 ต.ค. 57 อ่าน 1440 ครั้ง คำค้นหา : |