ชงหลักสูตรต่อเนื่องปวส.เรียนป.ตรี ฝาก กสทช.จัดเวลานำเสนอเรื่องการศึกษา
ชงหลักสูตรต่อเนื่องปวส.เรียนป.ตรี ฝาก กสทช.จัดเวลานำเสนอเรื่องการศึกษา
เลขาธิการ กกอ.เล็งนำข้อเสนอ คสช. เน้นให้นักเรียน ปวส.ศึกษาต่อระดับ ป.ตรีเพิ่มขึ้น เข้าที่ประชุม กกอ.หาช่องจัดหลักสูตรต่อเนื่อง พร้อมแนะปฏิรูปสื่อ ฝาก กสทช.จัดเวลานำเสนอเรื่องการศึกษาในทุกสื่อที่ดูแล เชื่อ มหาวิทยาลัยมีศักยภาพช่วยชี้นำสังคม เตรียมหารือ กับทปอ.-สกอ.เร่งดำเนินการ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประชุมหารือร่วมกับฝ่ายจิตวิทยาสังคม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องปฏิรูปการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ศธ.ได้นำเสนอโรดแม็พปฏิรูปการศึกษา ทั้งการปฏิรูปครู การกระจายโอกาสและปฏิรูปสื่อเพื่อการศึกษา การปฏิรูประบบบริหารจัดการ การผลิตกำลัง การปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งคสช.เห็นว่า ต้องเร่งดำเนินการอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปครู หากจะรื้อระบบบริหารบุคคล อาจต้องไปแก้กฎหมาย ดังนั้น จึงขอให้ ศธ.ไปเขียนแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไร นอกจากนั้น ในที่ประชุมมีการเสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปการศึกษา 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ควรใช้สื่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิรูปอย่างรวดเร็ว เช่น ทำสื่อทางการศึกษาสำหรับการเรียนรู้เองทั้งนอกระบบหรือในระบบ 2.ขยายผลโรงเรียนดี ครูดี โดยดำเนินการตามโมเดลต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ และต้องมีการดำเนินการที่ต่อเนื่องและ 3.สร้างองค์กรปฏิรูปการศึกษา อาจเรียกว่าสภาปฏิรูปการศึกษา เพื่อปฏิรูปแล้วจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปฏิรูปสื่ออยากให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวลานำเสนอเรื่องการศึกษาในทุกสื่อที่ กสทช.ดูแล ทั้งดาวเทียม โทรทัศน์ วิทยุ เพราะการปฏิรูปการศึกษาเป็นของทุกคนไม่ใช่เรื่องของ ศธ.เท่านั้น ส่วนการปฏิรูปอุดมศึกษา เบื้องต้น คสช.เน้นให้นักเรียนที่เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากขึ้น เพื่อให้ผู้จบสายอาชีวศึกษามีความรู้และวิชาชีพชั้นสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เพื่อรับทราบ และทบทวนว่ามีหลักสูตรใดที่จะดำเนินการจัดเป็นหลักสูตรต่อเนื่องได้บ้าง เพราะขณะนี้มีเพียง 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต และหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมเท่านั้นที่เป็นหลักสูตร ต่อเนื่อง คสช.อยากให้มหาวิทยาลัยร่วมปฏิรูปประเทศนั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะมหาวิทยาลัยควรมีส่วนชี้นำสังคม คงต้องหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และดูว่า สกอ.จะสนับสนุนเรื่องใดได้บ้าง ซึ่งเชื่อว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งที่มีจุดเด่นแตกต่างกันจะสามารถช่วยเหลือประเทศได้มาก เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัย มีนักกฎหมายที่รู้เรื่องอย่างดี สามารถช่วยได้มาก รศ.นพ.กำจร กล่าว ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ :
03 ก.ค. 57
อ่าน 1499 ครั้ง คำค้นหา :
|
|