ปรับหลักสูตรใหม่2ปีประกาศใช้ปี60 สพฐ.เผยยังไม่ระบุจำนวนสาระวิชาแต่ปรับชั่วโมงเรียนตามจุดเน้นแต่ละชช.



สพฐ.เตรียมปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ให้สอดคล้องทิศทางแผนพัฒนาประเทศ ผลิตกำลังศตวรรษที่ 21 ไว้รองรับอนาคต "กมล" เผยยังไม่กำหนดว่ามีกี่กลุ่มสาระวิชา แต่สัดส่วนเวลาเรียนจะต่างจากเดิมที่เท่าๆ กันทุกวิชา มาเป็นเพิ่มเวลาตามจุดเน้นแต่ละช่วงชั้น คาดใช้กระบวนการร่างและประชาพิจารณ์ 2 ปีก่อนประกาศใช้ในปี 60

.....

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมเดินหน้ายกร่างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ขึ้นมาใช้แทนหลักสูตร ปี 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งใช้มาครบวงรอบ 6 ปีแล้ว และเพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ สพฐ.ได้ศึกษาข้อดี-ข้อเสียของหลักสูตรปัจจุบันไว้แล้ว รวมถึงศึกษาหลักสูตรดีๆ ของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ พร้อมคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตว่าต้องการกำลังคนที่มีคุณลักษณะอย่างไร เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการยกร่างหลักสูตรใหม่ หลังจากนี้ สพฐ.ก็จะดำเนินการยกร่างหลักสูตรซึ่งได้วางขั้นตอนในการทำงานไว้ 12 ขั้นตอน

เลขาฯ กพฐ.กล่าวต่อว่า สพฐ.ยังไม่มีเป้าหมายว่าจะปรับลดจำนวนกลุ่มสาระวิชาจาก 8 กลุ่มลงหรือไม่ เพราะต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก่อน รวมถึงต้องฟังความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้วย และเมื่อยกร่างหลักสูตรเสร็จแล้วต้องนำมาประชาพิจารณ์อีกครั้ง แต่จะเป็นการรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่มตามกลุ่มสาระวิชา อย่างไรก็ตาม ร่างหลักสูตรใหม่นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรอย่างแน่นอน จากเดิมที่เฉลี่ยเวลาเรียนให้แต่ละกลุ่มสาระวิชาเท่าๆ กัน ก็เปลี่ยนมาเป็นการปรับสัดส่วนเวลาเรียนตามจุดเน้นของแต่ละช่วงชั้น เช่น ระดับประถมศึกษาตอนต้น จะเน้นให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ดังนั้นจึงต้องให้สัดส่วนเวลาเรียนเทไปที่วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

นายกมลกล่าวต่อว่า หลังจากศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว สพฐ.จะเสนอตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรระดับกระทรวง ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และเสนอให้นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าคณะทำงานจัดทำหลักสูตร และ สพฐ.ยังมีคณะอนุกรรมการที่มีนายอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นประธานดูแลเรื่องหลักสูตรอยู่แล้ว จึงจะเชิญนายอาจองมาเป็นที่ปรึกษาในการปรับหลักสูตรครั้งนี้ด้วย ซึ่งต่อจากนี้คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรจะกำหนดกรอบทิศทางในการยกร่างหลักสูตร และนำกรอบทิศทางดังกล่าวออกประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นใน 4 ภูมิภาคภายในเดือนพฤษภาคม 2558 เพื่อนำความเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้ไปสู่การยกร่างหลักสูตรใหม่ ซึ่งกำหนดปฏิทินการทำงานไว้ว่าจะดำเนินการยกร่างระหว่างมิถุนายนถึงตุลาคม 2558

นายกมลกล่าวอีกว่า การยกร่างหลักสูตรจะทำให้เสร็จภายในเดือนธันวาคมปี 2558 ระหว่างนั้นจะมีการพัฒนาบุคลากรและสื่อประกอบหลักสูตรใหม่ จากนั้นจะนำออกนำร่องในปีการศึกษา 2559 เป็นเวลา 1 ปี และติดตามผลการนำร่องมาปรับปรุงร่างหลักสูตรใหม่เป็นครั้งสุดท้ายให้มีความ สมบูรณ์ และเสนอให้ กพฐ.อนุมัติหลักสูตรก่อนนำออกใช้จริงในปีการศึกษา 2560

"สาเหตุที่กระบวนการปรับหลักสูตรครั้งนี้ใช้เวลานาน เพราะเราต้องการให้สังคมยอมรับ หากเร่งรัดดำเนินการเกินไปอาจเกิดปัญหาตามมา และในร่างหลักสูตรใหม่นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเฉลี่ยเวลาเรียนให้แต่ละกลุ่มสาระวิชา จากเดิมที่เท่าๆ กัน จะปรับสัดส่วนเวลาเรียนตามจุดเน้นของแต่ละช่วงชั้น" เลขาฯ กพฐ.กล่าว.

 

ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 18 ธันวาคม 2557


โพสเมื่อ : 18 ธ.ค. 57   อ่าน 1565 ครั้ง      คำค้นหา :