"สมพงษ์" ชี้การศึกษาทางเลือกมีดีให้อำนาจท้องถิ่นดูแลตามบริบท



นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหัวหน้าโครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับ พลังชุมชนท้องถิ่น ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านเด็กและเยาวชนเปิดเผยว่า กระแสหลักการจัดการศึกษาในยุคนี้คือ การศึกษาทางเลือก ซึ่งหากรัฐยังคงให้ความสำคัญกับโครงสร้างการศึกษาในระบบ ก็อาจจะไปไม่รอด ไร้คุณภาพ มีประสิทธิภาพต่ำ และสังคมไทยก็จะล้าหลังเพราะที่ผ่านมารัฐจัดการศึกษาสูงถึง 76%ท้องถิ่น 5% ภาคเอกชน 16-18% และการศึกษาทางเลือก 1-2% แต่การศึกษาทางเลือกกลับเป็นบทพิสูจน์ ว่าจัดแล้วมีคุณภาพที่ดีกว่า ทั้งเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ปรัชญากระบวนการเรียนรู้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งคุณภาพของการศึกษาทางเลือกการศึกษาตามอัธยาศัย ได้ถูกกำหนดเป็นแนวนโยบายการศึกษาที่ดีที่สุด โดยถูกนำมาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในชุดนี้


"คนสำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา คือ รมว.ศึกษาธิการ เพราะเป็นคนที่สั่งทุบโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ (ศธ.)ให้เล็กลง ลดบทบาทรัฐ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาได้เอง ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่ทำเรื่องการศึกษาทางเลือก เริ่มเห็นความชัดเจนแล้วเนื่องจากมีโรงเรียน กว่า 200 แห่ง ที่สามารถเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาทางเลือกให้กับโรงเรียนอีกกว่า30,000 แห่งทั่วประเทศ ได้เรียนรู้รูปแบบการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดังนั้น โครงการการบูรณาการพลังเด็กและเยาวชนกับพลังชุมชนท้องถิ่นฯ จึงเป็นโครงการที่มีรูปแบบเดียวกับการศึกษาทางเลือกเพราะมีความหลากหลาย เหมาะสมกับทุกบริบทของท้องถิ่น ซึ่งมีชุมชนเป็นเจ้าของทั้งโรงเรียน ค่ายเรียนรู้ต่างๆ และมีศูนย์การเรียนที่เป็นองค์ประกอบของท้องถิ่นที่เน้นให้เข้าใจในคุณค่า ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นายสมพงษ์ กล่าว

 

ที่มา สยามรัฐ


โพสเมื่อ : 11 พ.ย. 57   อ่าน 1296 ครั้ง      คำค้นหา :