ศธ.เตรียมจัดงบการศึกษาใหม่




      
ศธ.เตรียมจัดงบการศึกษาใหม่ 


          ศธ.เตรียมปรับสูตรจัดสรรงบประมาณด้าน การศึกษาใหม่ หลังพบจ่ายเยอะ แต่คุณภาพการศึกษาไม่กระเตื้อง เหตุเพราะมีสัดส่วนงบลงทุนน้อยเกินไป
          ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และธนาคารโลก จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ การบริหารจัดการทรัพยากรการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษเรื่อง นโยบายการศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพ ว่า ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยได้รับงบประมาณ 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดินสำหรับจัดการศึกษา และเป็นสัดส่วนที่สูงมาก แต่การปฏิรูปการศึกษาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร เพราะงบประมาณส่วนใหญ่มักถูกใช้ในเรื่องการก่อสร้างอาคารเรียน และเงินเดือนครู แต่งบที่จะต้องใช้ในการพัฒนาผู้เรียนกลับไม่มีการลงทุนแต่อย่างใด
          ทั้งนี้ แม้จะมีนโยบายเรียนดี เรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงก็ตาม แต่นโยบายนี้ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ เพราะมีข้อเสียที่ส่งผลให้การระดมทรัพยากรทางการศึกษาทำได้น้อยลง ขณะเดียวกันการให้เงินอุดหนุนรายหัวเด็กก็ยังไม่เกิดความเท่าเทียม อยากให้มีการลงทุนทางการศึกษามากขึ้น โดยต้องการให้มีการใช้ทรัพยากรไปยังเด็กที่มีฐานะยากจน และการให้เงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชนเท่าเทียมกับโรงเรียนภาครัฐ รวมถึงนโยบายเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวะ แต่กลับพบว่างบลงทุนของอาชีวศึกษายังได้รับน้อยกว่าสายสามัญ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการลงทุนทางการศึกษาครั้งสำคัญอย่างแน่นอน
          ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้ ศธ.จะได้รับงบประมาณทางการศึกษา สูงขึ้น แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับสวนทาง เพราะหากดูผลสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ (Pisa) หรือการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ที่ผ่านมาของเด็กจะพบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวฐานะ ดีจะทำคะแนนการสอบได้ดีกว่า แต่เด็กที่มีฐานะยากจนกลับได้คะแนนต่ำกว่า ซึ่งยอมรับว่า ฐานะทางครอบครัวมีผลต่อการเรียนของเด็ก โดยปัญหาเหล่านี้ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางการ ศึกษา แม้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมาไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ดังนั้นจะทำ อย่างไรให้เด็กที่มีฐานะยากจนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
          ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้เสนอสูตรการจัดสรรงบประมาณขึ้น ซึ่งสูตรดังกล่าวจะคำนวณเงินอุดหนุนรายหัวที่สะท้อนต้นทุนการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยจะพิจารณาจากผลการเรียนที่คาดหวัง ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน ซึ่งเชื่อว่าการจัดทำสูตรงบประมาณใหม่นี้จะตอบโจทย์ความเท่าเทียมทางการศึกษาได้อย่างแน่นอ

         

 ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


โพสเมื่อ : 01 พ.ค. 57   อ่าน 1361 ครั้ง      คำค้นหา :