ภาษาอังกฤษ ยังน่าเป็นห่วง



ภาษาอังกฤษ ยังน่าเป็นห่วง

เลาะเลียบคลองผดุงฯ


ล่วงเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) อย่างเต็มตัวมาเกือบ 2 เดือน จากการได้ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ พบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจหรือตระหนักถึงการเกิด AEC มากนัก

แต่มั่นใจว่า นิสิตนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานอันใกล้ น่าจะรับรู้ถึงการเคลื่อนที่ของแรงงานของ 10 ประเทศในกลุ่มสมาชิก ประกอบไปด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา สามารถเดินทางทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้นพอสมควร

บังเอิญได้เห็นบทความจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้แสดงความเป็นห่วงถึงสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ควรจะมีวิชาที่ว่าด้วยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เปิดสอนในทุกระดับการศึกษา มิใช่แค่การบอกกล่าวเล่าให้ฟังในห้องเรียน จากการสอดแทรกในรายวิชาที่สอนเท่านั้น

โดยเฉพาะอุดมศึกษา ควรเน้นให้นิสิตนักศึกษาได้ศึกษาภาษาของประเทศในกลุ่มสมาชิกในระดับที่สามารถใช้สื่อสารได้อย่างน้อยก็ในระดับพื้นฐานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมกับเพิ่มความเข้มข้นในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษควบคู่กันไปด้วย

จากผลการสำรวจล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ศักยภาพและความพร้อมของไทยอยู่ในระดับ "กลางๆ" เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และตามหลังอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษสูงที่สุด

การเตรียมความพร้อมเหล่านี้จึงไม่อาจเตรียมกันได้ในชั่ว ข้ามคืน ต้องมีการบ่มเพาะตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่า กระทรวงศึกษาฯ ให้ความสำคัญและพยายามส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษระหว่างครูและนักเรียน รวมทั้งต้องการฝึกให้เกิดความเคยชินในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ในทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันให้ได้

นับว่าเป็นความพยายามที่ดีในการเริ่มต้น ถึงแม้ว่าอาจจะดูขลุกขลักอยู่ไม่น้อย

เห็น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ. ตั้งที่ปรึกษาเป็นถึงฝรั่งชื่อ ไมเคิล เดวิด เซลบีย์ มอบหมายให้ดูแลเรื่องภาษาอังกฤษ ไม่ทราบว่าตอนนี้ทำงานไปถึงไหนแล้ว บอกความก้าวหน้ากันบ้างก็ดี

 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน
[email protected] 

 

ที่มาข่าวสดออนไลน์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559


โพสเมื่อ : 26 ก.พ. 59   อ่าน 1439 ครั้ง      คำค้นหา :