จัดโครงการ ’ชาน-สถาปัตยกรรม’ เปิดโอกาส นศ.สถาปัตย์ปรับพื้นที่ในมหาวิทยาลัย



                                

จัดโครงการ 'ชาน-สถาปัตยกรรม' เปิดโอกาส นศ.สถาปัตย์ปรับพื้นที่ในมหาวิทยาลัย

          บริษัทคอนวูด จัดโครงการ ชานสถาปัตยกรรม ภายใต้ความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มกค)และพันธมิตรต่างๆ เพื่อปรับพื้นที่ภายในสถานศึกษา ให้เป็นแหล่งพักผ่อน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทั้งนักเรียน นักศึกษา และคณาจารย์
          นายสุทธิพันธ์ วัชโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอนวูด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุทดแทนไม้ภายใต้ชื่อ คอนวูด กลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวง กล่าวว่า โครงการชาน-สถาปัตยกรรม จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อนักศึกษาและคณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยได้นำผลิตภัณฑ์คอนวูดมาใช้ตกแต่ง ส่งเสริมแนวคิดในการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากรทางด้านการออกแบบ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ช่วยจุดประกายให้นักศึกษาและคณาจารย์ใช้สถาปัตยกรรมต่างๆ ช่วยให้สังคมน่าอยู่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
          ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมศก. กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัยศิลปากร ต้องการให้นักศึกษาได้ศึกษาเล่าเรียนในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความรู้ มุมมองความคิดใหม่ๆ ในการออกแบบ ทำให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้จากงานจริงๆ เพราะการเรียนรู้จากกระดาษ แบบจำลอง อาจทำให้นักศึกษาไม่เห็นภาพจริงๆ โครงการนี้ พวกเขาได้ลองผิดลองถูก ได้เห็นข้อดีข้อเสีย เสนอความคิดของตัวเองจนนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ
          นายวรวิทย์ เลียงวีระเดช และ นายสุทธาพงษ์ วงศ์พิริยะวามิน นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้ชนะการประกวดออกแบบโครงการชาน-สถาปัตยกรรม เล่าว่า นักศึกษาสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ จะใช้เวลาว่างในการตัดต่อชิ้นโมเดล คิดออกแบบโครงร่างต่างๆ ใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อ่านหนังสือ นั่งเล่น คิดงาน หรือนั่งรอเวลาเข้าเรียนสตูดิโอ จึงได้ปรับพื้นที่เดิมจากห้องเรียน 2 ห้อง เป็นชานให้เปิดกว้าง ระบายอากาศที่ดีขึ้น ใช้วัสดุเหล็กกับคอนวูด โดยนำวัสดุทดแทนไม้ธรรมชาติปูลงไปในพื้นเดิม และดัดแปลงให้มีโครงเหล็ก ตัวระแนงเป็นกรอบบานเหล็กและตีคอนวูดให้ความรู้สึกเหมือนไม้จริงๆ เข้ามาผสมผสาน และบานพับโครงเหล็กดัดแปลงให้สามารถเปิดปิดได้ มีการทำเป็นขั้นบันได ให้เหมือนโต๊ะเตี้ยๆ ให้นักศึกษาได้มาใช้นั่ง หรืออ่านหนังสือ วาง หนังสือ
          นายธีรโชติ ชูกิจไพศาล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 รุ่นน้องในคณะ กล่าวว่า พื้นที่เดิมเป็นห้องเรียนที่ร้อนมาก แต่พอทำให้เป็นชานออกไป ทำให้มีอากาศถ่ายเทมากขึ้น เป็นพื้นที่ตอบสนองความต้องการในการใช้ประโยชน์ได้จริง เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ เป็นแหล่งพักผ่อน ทำกิจกรรม ทำโมเดล เขียนแบบ เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมของเด็กจริงๆ เป็นการดีที่ภาคเอกชนเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาปรับใช้ ออกแบบปรับพื้นที่ในมหาวิทยาลัยของตนเอง

         

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


โพสเมื่อ : 06 มิ.ย. 57   อ่าน 1557 ครั้ง      คำค้นหา :