สอนอังกฤษอาชีวะยึดกรอบซีอีเอฟอาร์




      
สอนอังกฤษอาชีวะยึดกรอบซีอีเอฟอาร์


          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อพิจารณา ร่างแนวปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบาย ปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ระดับอาชีวศึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและการทดสอบให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานทางภาษาของ สหภาพยุโรป หรือ ซีอีเอฟอาร์ (CEFR) เน้นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และสื่อสารในการงานอาชีพอย่าง มีประสิทธิภาพ ตอบสนองสถานประกอบการได้ อย่างไรก็ตาม ร่างแนวปฏิบัติเดิมเราคาดหวังไว้สูง แต่หลังจากประชุมหารือแล้วอาจจะต้องกำหนดเป้าหมายเป็นระยะ ๆ และปรับให้เหมาะสม กับช่วงเวลา
          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กำหนดให้เด็กที่จบ ม.6 ได้ระดับบี 1 ตามกรอบซีอีเอฟอาร์ คือ สามารถพูด เขียน และจับใจความสำคัญของข้อความทั่ว ๆ ไปได้ จัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ ซึ่งที่จริงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ควรได้ระดับบี 1 เหมือนกัน แต่เมื่อดูความเป็นไปได้ในระยะเริ่มต้นก็จะปรับลดเป้าหมายเป็นระดับ เอ 2 บวก  คือ สามารถใช้และเข้าใจประโยคในชีวิตประจำวันในระดับกลาง และบวกด้วยภาษาอังกฤษเพื่องานอาชีพ ในช่วงนี้ส่วนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากเดิมกำหนดระดับความสามารถการใช้ภาษาบี 2 เท่าปริญญาตรี ก็จะปรับลดเป็นบี 1 บวกด้วยภาษาอังกฤษเพื่องานอาชีพ เลขาธิการ กอศ.กล่าว
          เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวปฏิบัติฯดังกล่าวจะต้องมีการยกระดับความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งต้องเตรียมครูให้พร้อม อย่างไรก็ตามอาชีวะมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนภาษาอังกฤษ คือ สอศ.กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับ ทั้งระดับ ปวช. ปวส. ให้สถานศึกษาสามารถพัฒนารายวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการอาชีพเพิ่มเติมได้ ทุกวิทยาลัยมีครูที่จบสาขาวิชาภาษาอังกฤษมาโดยตรง และมีสถานประกอบการที่จะใช้ในการฝึกภาษาอังกฤษจำนวนมาก ทั้งนี้ เราหวังว่าแนวปฏิบัตินี้จะใช้ในสถาบันอาชีวะของรัฐ เอกชน ทั้งในระบบ นอกระบบ และทวิภาคี ซึ่งต้องหารือกันต่อไป.


          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 19 พ.ค. 57   อ่าน 1516 ครั้ง      คำค้นหา :