เปิดปัญหาการศึกษาไทย 3 ข้อใหญ่ สมศ.พบสถานศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ผ่านรับรองร้อยละ 37



สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการ ศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานานาชาติ ประจำปี พ.ศ.2558 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ” เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 15 ปี ของ สมศ.

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า จากการประเมิน 15 ปีที่ผ่านมาพบว่า ในสถานศึกษาทุกระดับ ทุกประเภทกว่า 60,000 แห่งทั่วประเทศ พบว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีสถานศึกษาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 20,376 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 62.04 ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน จำนวน 12,468 หรือคิดเป็นร้อยละ 37.96

ส่วนการอาชีวศึกษา ผ่านการรับรองฯ จำนวน 622 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 79.54 ไม่ผ่านการรับรองฯ จำนวน 160 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.46 และระดับอุดมศึกษา ผ่านการรับรองฯ จำนวน 253 คิดเป็นร้อยละ 66.92 ไม่ผ่านการรับรองฯ จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.54 โดยสมศ.สรุปผลการประเมินทั้งหมดส่งให้สถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล และสาธารณชนให้รับทราบอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยสามารถสรุปปัญหาการศึกษาไทย ได้ 3 หัวข้อดังนี้

1. การขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย ประเทศไทยมีระบบการบริหารที่ยึดหลักตามผู้บริหาร รูปแบบการศึกษาของไทยถูกปรับเปลี่ยนตามแนวคิดของผู้บริหารในแต่ละช่วง ทำให้นโยบายด้านการศึกษาต่างๆ ไม่ได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย โดยปัญหาที่เห็นเป็นรูปธรรม อาทิ นโยบายการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรายวิชาเป็นกลุ่มสาระการเรียน รู้ ทำให้วิชาสำคัญถูกกลืนหายไป เช่น ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ส่งผลให้ตัวป้อนเข้าสู่อุดมศึกษาขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาว นโยบายไม่มีตกซ้ำชั้น แต่มีเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในปัจจุบันมากถึงร้อยละ 30 ทั่วประเทศ

นโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กเปลี่ยนแปลงบ่อย ขาดความชัดเจน ขณะที่สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีมากถึงประมาณ 20,000 แห่ง ส่งผลให้เกิดปัญหาครูไม่ครบชั้น

นโยบายการปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็นการเพิ่มค่านิยมปริญญา ส่งผลกระทบต่ออัตราการเข้าเรียนของนักศึกษาด้านอาชีวศึกษาลดต่ำลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานฝีมือ เพราะผู้เรียนเลือกเรียนสายสามัญในระบบอุดมศึกษามากเกินความจำเป็นทั้งที่ ส่วนหนึ่งจบมาแล้วตกงานหรือต้องทำงานต่ำกว่าวุฒิฯ

2. การขาดการกำกับเชิงปริมาณ ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ 1) การเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนมากกว่าความจำเป็นและ ความต้องการของสังคมเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการลงทุน และกลายเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา 2) การเปิดหลักสูตรที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้นักศึกษาที่จบออกไปไม่มีวุฒิการศึกษารองรับ ทำให้ไม่สามารถหางานได้ 3) ข้อมูลด้านการศึกษา ไม่เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลจำนวนอาจารย์ จำนวนผู้เรียน ขาดการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ขาดการจัดส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และขาดการกำกับดูแลจากส่วนกลาง ทำให้มีความคลาดเคลื่อนด้านข้อมูลอันส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายฯ

3. การขาดการควบคุมคุณภาพ การจัดการศึกษามุ่งเน้นการจัดการเชิงธุรกิจ การศึกษากลายเป็นสินค้าที่จัดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน คุณภาพอาจารย์และหลักสูตรยังไม่เอื้อต่อการผลิตบัณฑิตอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ เช่น 1)มหาวิทยาลัย คณะ/ภาควิชาขยายตัวอย่างต่อเนื่องแต่การผลิตอาจารย์ที่มีคุณภาพไม่ทันต่อการ ขยายตัว อาจารย์ได้รับการพัฒนาไม่เพียงพอ ผลงานวิจัยมีน้อยและไม่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ 2)การกระจายอำนาจการบริหารให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการอนุมัติหลักสูตรและ การเปิดการเรียนการสอน ส่งผลให้มีหลักสูตร รวมถึงการจัดการศึกษานอกที่ตั้งจำนวนมาก ทั้งที่หลายแห่งขาดความพร้อม 3) ประเทศไทยกำหนดอัตราครู 1 ต่อ 16 ในระดับประถมศึกษา ส่วนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 20 แต่ในขณะที่ต่างประเทศกำหนดสัดส่วนจำนวนครู ต่อนักเรียน ระดับมัธยมศึกษาน้อยกว่าระดับประถมศึกษา

"เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สถานศึกษาต้องทำให้การประกันคุณภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพ โดยมีแนวทาง 3 ประการ ได้แก่ 1) QD: Quality Development การพัฒนาคุณภาพการศึกษา 2) QE: Quality Enhancement การส่งเสริมคุณภาพการศึกษา และ 3) QF: Quality Framework กรอบการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งถ้าครู อาจารย์ หรือสถานศึกษาสามารถดำเนินการได้สามข้อดังกล่าว จะเป็นการ “การก้าวข้ามขีดจำกัด” จากปัญหาก็จะกลายเป็นประสบการณ์และข้อค้นพบที่ดี" ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

 

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษามีความสำคัญและจำเป็น อย่างมากและต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลักในการตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษาใน 3 เรื่องได้แก่

1. องค์ประกอบด้านสถานศึกษาและต้นสังกัด ต้องบริหารจัดการการศึกษาให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการประกันคุณภาพภายในและมีแผนพัฒนาสถานศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

2.องค์ประกอบด้านเนื้อหาสาระของการประเมิน ต้องมีการกำหนดเกณฑ์และตัวบ่งชี้ที่สะท้อนคุณภาพการจัดการศึกษา อาทิ ปริมาณและคุณภาพของครู และบุคลากรทางการศึกษา หลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีสภาพแวดล้อมภายในสถานศึกษาที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษาเล่าเรียน

3. องค์ประกอบด้านระบบและกระบวนการประเมินคุณภาพภายนอก ต้องมีการพัฒนาระบบและกระบวนการประเมินคุณภาพภายนอกเพื่อให้การตรวจสอบ คุณภาพสถานศึกษามีผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงผลการประเมินตรงตามสภาพความเป็น จริง สถานศึกษาและต้นสังกัดนำผลการประเมินไปปรับปรุง พัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

สมศ.จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานานาชาติประจำปี พ.ศ.2558 ภายใต้หัวข้อ "ก้าวข้ามขีดจำกัด สู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ" เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 15 ปี ของ สมศ. ต่อสาธารณชน และการเสวนาเพื่อพัฒนาการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยนักวิชาการทางการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติกว่า 54 หัวข้อ โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นวันที่ 14-15 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลได้ที่สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) www.onesqa.or.th 

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 14 ตุลาคม 2558


โพสเมื่อ : 15 ต.ค. 58   อ่าน 1600 ครั้ง      คำค้นหา :