ขาดแคลนทุกระดับ



ขาดแคลนทุกระดับ

เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน [email protected]


ความต้องการแรงงานของภาคเอกชนที่ได้รายงานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาค รัฐ-เอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเมื่อต้นเดือนนี้พบว่า ขาดแคลนในทุกระดับชั้นตั้งแต่ระดับบริหาร แรงงานฝีมือ ไปถึงไร้ฝีมือ จนต้องมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเสริมในหลายธุรกิจ

 

จับไปที่ตัวเลขสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สรุปว่าภายในปี 2560 กลุ่มอุตสาหกรรม 14 สาขาของประเทศต้องการกำลังคนเพิ่มอีก 6.8 แสนคน แต่อาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนผลิตในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้แค่ปีละ 3.5 หมื่นคน

 

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรม ต้องการคนเพิ่มปีละ 2 แสน แต่ผลิตได้แค่ปีละประมาณ 1,500 คน ส่วนภาคอุตสาหกรรมและบริการ ต้องการเพิ่มอีกหลายแสนคน แต่การผลิตยังห่างไกลเกินฝัน

 

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ขณะนี้มีแรงงานอยู่ 6.7 แสนคน และมีแผนเพิ่มการผลิตรถยนต์จากปัจจุบัน 2.5 ล้านคัน เป็นปีละ 3.5 ล้านคันในปี 2563 จึงมีความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200,000 คน จึงจะเพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ตามเป้าได้

 

ฟังข้อคิดเมื่อไทยเข้าสู่เออีซี จากม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าบุคลากรด้านนี้ไม่เพียงเพิ่มทักษะฝีมือเท่านั้น ยังต้องฝึกการสื่อสารภาษารองรับอีกด้วย

 

มิเช่นนั้นการที่ไทยจะมียอดการส่งออกเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอาเซียน และฝันจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกภายใน 3 ปี ก็ยากที่จะไปถึงที่หมาย

 

ในขณะที่นักวิชาการมองว่า เมื่อพิจารณาดูตัวเลขความเป็นจริงและความต้องการแรงงานในภาคการผลิต แท้จริงแล้วมีความต้องการแรงงานผู้จบอาชีวศึกษาทั้งระดับปวช. ปวส.เพิ่มขึ้น และห่วงว่าในอนาคตผู้จบปริญญาจะประสบปัญหาอุปสงค์ส่วนเกิน

 

เท่ากับว่าผู้จบปริญญาตรีอาชีวะ มีโอกาสเสี่ยงที่จะยอมทำงานที่ได้เงินเท่าแรงงานระดับกลาง หรือทำงานในสาขาที่ไม่ได้เรียนจบมาโดยตรง

 

ดังนั้น การผลิตและการพัฒนากำลังพลด้านอาชีวะ เห็นทีจะปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แบกรับแต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ต้องร่วมด้วยช่วยกันให้เป็นรูปธรรมแทนการนั่งคุยกัน

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558


โพสเมื่อ : 09 ก.พ. 58   อ่าน 1393 ครั้ง      คำค้นหา :