ผอ.สมศ.มอบกุญแจ3ดอกไขคุณภาพ เผย 1,755 โรง ไม่ผ่าน 3 รอบ แนะเร่งสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ



ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ "การประกันคุณภาพการศึกษา" ประจำปี 2557 ซึ่ง สมศ.จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 14 ปี สมศ.ว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นจะต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมคุณภาพซึ่ง แต่ละประเทศมีวัฒนธรรมคุณภาพที่แตกต่างกันซึ่งสถานศึกษาจะต้องรู้วัฒนธรรม ของตนเองแล้วร่วมกันสร้างวัฒนธรรมคุณภาพให้เกิดขึ้น โดยใช้กุญแจ 3 ดอก คือ จิตสำนึกคุณภาพ วิถีชีวิตคุณภาพ และการบริหารสถานศึกษาคุณภาพ โดยจิตสำนึกคุณภาพเกิดจากศิษย์และครูรู้สำนึกในหน้าที่และระเบียบวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานที่วางไว้ ผู้บริหารเองก็ต้องมีจิตสำนึกคุณภาพ หาก สมศ.ประเมินแล้วไม่ผ่านต้องสำรวจว่าสถานศึกษาของตนเองขาดวัฒนธรรมคุณภาพใน เรื่องใด แล้วรีบปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดคุณภาพตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปัจจัยที่สะท้อนจิตสำนึกคุณภาพคือ คุณภาพของผู้เรียนที่เกิดจากการเรียนรู้ ตามเป้าหมายของหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ความคาดหวังของผู้ปกครองและความต้องการของสังคม รวมทั้งการวัดและประเมินผลที่เป็นระบบโดยข้อสอบที่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญต้องเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา

ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวว่า จากการประเมินของ สมศ. ที่ผ่านมามีโรงเรียนหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จ อย่างเช่นโรงเรียนห้วยไร่หาดทรายมูล จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งในการประเมินรอบแรกและรอบสองไม่ผ่านรับรองมาตรฐาน ซึ่งพบว่าเกิดจากปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ผู้บริหารโรงเรียนจึงหาวิธีการแก้ไข โดยนำการประกันคุณภาพภายในมาใช้ (PDCA) เริ่มจากการคัดกรองเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเขียน การอ่าน แล้วบริหารจัดการครู สร้างความร่วมมือร่วมใจการสอนเสริมให้เด็กใน วิชาที่อ่อนและการทำงานร่วมกันอย่าง ใกล้ชิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อ สมศ. ไปประเมินรอบสามโรงเรียนแห่งนี้สามารถยกระดับมาตรฐานขึ้นมาอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากได้สำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง ชุมชน ถือเป็นแบบอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากจิตสำนึกของผู้บริหารโรงเรียนอย่างแท้จริง" ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

"ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาออกมาค่อนข้าง มาก ซึ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการนิยามการประกันคุณภาพการศึกษาออกไปในหลากหลายมิติ มองว่าการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นภาระ เป็นความทุกข์ แต่หากมองอีกด้านว่าการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นภารกิจก็จะเกิดคุณประโยชน์ กับสถานศึกษานั้นๆ อย่างมาก ดังนั้นการประกันคุณภาพต้องทำควบคู่กันทั้ง IQA และ EQA คือ ประเมินด้วยความรู้ ความเข้าใจ ก็จะเป็นประโยชน์ต่องาน ผมมั่นใจว่าถ้าเราทุกคนมีจิตสำนึกคุณภาพ ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศจนกลายเป็นวัฒนธรรมคุณภาพ จะทำให้การศึกษาของประเทศเรามีคุณภาพทัดเทียมนานาประเทศได้ไม่ยาก" ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว

ผอ.สมศ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลประเมินคุณภาพภายนอกรอบสามซึ่งยังเหลือเวลาอีก 1 ปีที่ต้องประเมินให้เสร็จ พบว่าสถานศึกษาที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่ง สมศ. ได้ทำการเปรียบเทียบผลการประเมินแต่ละรอบของสถานศึกษาทุกแห่ง คือ กลุ่มโรงเรียนที่ไม่ผ่านการประเมินทั้ง 3 รอบ มีจำนวน 1,755 แห่ง และกลุ่มที่ผ่านการประเมินฯ รอบสอง แต่รอบสามไม่ผ่านการประเมิน มีจำนวนถึง 9,418 แห่ง ทั้งสองกลุ่มนี้ต้นสังกัดจะต้องให้ความสำคัญและใกล้ชิดอย่างมาก ค้นหาสาเหตุและวางแนวทางแก้ไขเร่งด่วนที่สุด



ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 24 ธ.ค. 2557 (กรอบบ่าย)


โพสเมื่อ : 23 ธ.ค. 57   อ่าน 1411 ครั้ง      คำค้นหา :