มุสลิมไทยเรียนวิชาการในอียิปต์-ซูดาน
มุสลิมไทยเรียนวิชาการในอียิปต์-ซูดาน
การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างกับพื้นที่อื่น ๆ ชาวไทยมุสลิมกว่า 85% ของประชากรในพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านศาสนามาก วันเสาร์-อาทิตย์เด็กมุสลิมส่วนใหญ่จะเรียนศาสนาหลักสูตรเข้มข้นในศูนย์อบรมศาสนาอิสลามประจำมัสยิด หรือตาดีกา วันปกติเรียนอิสลามศึกษาในโรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชน และเรียนอัลกุรอานในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน เมื่อจบชั้น ป.6 ก็จะเรียนศาสนาควบคู่กับสายสามัญศึกษาระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือสถาบันศึกษาปอเนาะ จนจบด้านศาสนาชั้นสูงสุดที่เรียกว่า ซานาวียะห์ หรือชั้น 10 ก่อนไปเรียนต่อด้านศาสนาในต่างประเทศ อาทิ อียิปต์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย จอร์แดน ซูดาน และซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่เด็กไทยมุสลิมบินไปเรียนต่อมากที่สุด คือ สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ดินแดนไอยคุปต์ แหล่งอารยธรรมโบราณกว่า 3,000 ปี ถิ่นนักคิด นักปราชญ์ในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ซึ่ง ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาอิสลามของโลก และเป็นดินแดนที่มีความผูกพันกับศาสนาอิสลามมายาวนานดังปรากฏหลักฐานชัดเจนในคัมภีร์ อัลกุรอาน และแม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองภายในอียิปต์ยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ นักศึกษาอียิปต์จับกลุ่มประท้วงรัฐบาลเป็นระยะ ๆ แต่นักศึกษาไทย เกือบ 3,000 คน ที่ส่วนใหญ่เรียนอยู่ใน มหา วิทยาลัยอัล-อัซฮัร ต่างก็ยืนยันที่จะอยู่ในอียิปต์เพื่อเรียนต่อจน จบการศึกษา เพราะมหา วิทยาลัยแห่งนี้มีความ เก่าแก่อันดับต้น ๆ ของโลก ตั้งมานานกว่า 1,100 ปี มีนักศึกษามากกว่า 150 ชาติ ซึ่งรัฐบาลอียิปต์ให้ทุนนักศึกษาไทยปีละ 80 ทุน โดยปัจจุบันมีนักศึกษาไทยได้รับทุนเรียนอยู่กว่า 300 คน เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร. สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยคณะผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.และ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศธ.ในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐซูดาน และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อเยี่ยมนักศึกษาไทย พร้อมเจรจาขยายความ ร่วมมือในการจัดการศึกษาใน 2 ประเทศ เพราะเส้นทางการเรียนต่อของเด็กไทยมุสลิมในต่างแดนใช่ว่าจะราบรื่นนัก ยังมีอุปสรรคในการใช้ภาษาอาหรับ ซึ่งนักศึกษาต่างชาติต้องสอบภาษาอาหรับให้ผ่านก่อน จึงจะสมัครเรียนที่มหา วิทยาลัยอัล-อัซฮัรได้ หากไม่ผ่านต้องเรียนภาษาอาหรับเสริมที่สถาบันภาษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งเด็กไทยส่วนใหญ่ต้องไปเรียนภาษาอาหรับเสริม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเรียนไม่จบตามเวลา 4 ปี อีกทั้งจะเรียนได้เฉพาะสาขาด้านศาสนา คือ คณะนิติศาสตร์อิสลาม ศาสนศาสตร์ และรัฐศาสตร์อิสลาม เพราะมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัรยังไม่มีการรับรอง วุฒิการศึกษาสายสามัญของผู้ที่จบจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามผลการเจรจา กับ เชค อาเหม็ด โมฮัมหมัด อัล ตัยยิ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam Sheikh of Al- Azhaz) และ ดร.อุซามา อัล อับ อธิการบดีมหา วิทยาลัยอัล-อัซฮัร ต่างก็ยินดีสนับสนุนในทุกเรื่องที่ไทยเสนอ ทั้งการเทียบวุฒิการศึกษา เพื่อเปิดทางให้เด็กไทยสามารถเลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ได้ รวมถึงจะสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันภาษาอาหรับในไทย เพื่อเตรียมตัวให้นักศึกษาไทยก่อนเดินทางเรียนต่อ ที่อียิปต์ การจัดสร้างหอพักนักศึกษาหญิง เป็นต้น ส่วนผลการเจรจาที่ซูดานที่มีเด็กไทยเรียนอยู่ประมาณ 300 คน ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน โดยจะมีการจัดเทียบโอนวุฒิให้เด็กไทยมุสลิมได้เรียนในหลากหลายสาขาวิชา ไม่เฉพาะด้านศาสนาเท่านั้น ซึ่ง ดร.อุซามา อัล-อับ บอกว่า นอกจากส่งนักศึกษามาเรียนที่อียิปต์แล้ว ควรมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและอาจารย์ ของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร กับมหาวิทยาลัยในไทยด้วย ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมโยงเส้นใหม่ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิชาการ และความเชี่ยวชาญ ของทั้ง 2 ประเทศ การเดินทางมาเรียนที่อียิปต์ นายลีนวัตร แสงวิมาน นายกสมาคมนักเรียนไทยในกรุงไคโร ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายในการเรียนของที่นี่ถือว่าถูก ทั้งค่าธรรมเนียมการเรียน หนังสือ อาหาร และเรียนเตรียมภาษาอาหรับ รวมแล้วประมาณ 7-8 พันบาทต่อเดือน แต่หากไม่ต้องเรียนปรับพื้นฐานภาษาก็จะถูกลงไปอีก ซึ่งเราอยากให้รัฐบาลช่วยจุดนี้ รวมถึงการจัดแพทย์มาตรวจสุขภาพปีละ 2 ครั้ง และพวกเราก็ยังต้องการเรียนสายสามัญควบคู่ไปกับศาสนาด้วย เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาประเทศของเรา การกรุยทางจัดระบบให้เด็กไทยมุสลิม มีช่องทางเรียน เพื่อไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย ถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อประเทศ และยังเป็นการประกาศศักยภาพทางวิชาการของเด็กไทยมุสลิมให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย.
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 พ.ค. 2557 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
29 พ.ค. 57
อ่าน 2072 ครั้ง คำค้นหา :
|
|