![]() |
นิสิตปีสุดท้ายสอบยูเน็ต 4 วิชา ประเดิมปลายปี 57 ทดลองระบบสอบชิงทุนครูมืออาชีพ สทศ.ประเดิมจัดสอบยูเน็ตครั้งแรกปี 57 ปลายปีนี้ให้แก่นิสิต นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชา จัดสอบ 4 วิชา พร้อมทดลองระบบกับการสอบชิงทุนครูมืออาชีพปี 57 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด สทศ. ว่า ที่ประชุมมีมติให้จัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือยูเน็ต ในปีการศึกษา 2557 ซึ่งการทดสอบดังกล่าวเป็นการประเมินมาตรฐานบัณฑิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือทีคิวเอฟ โดยจะเริ่มนำร่องทดสอบนิสิต นักศึกษา ระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของทุกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่มีความสมัครใจ ทั้งนี้ มีการทดสอบ 4 วิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต : การรู้เท่าทันสื่อ การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา (Media Literacy) และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ต่อจากนั้นในปีการศึกษา 2558 สทศ.จะเพิ่มการทดสอบอีก 2 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณธรรม จริยธรรม และด้านทักษะวิชาชีพเฉพาะสาขาวิชา ซึ่งจะร่วมกับสภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ นำผลประเมินหรือผลทดสอบซึ่งเป็นที่ยอมรับแต่ละสาขาวิชามาใช้ ส่วนสาขาวิชาไม่มีสภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพก็จะขอความร่วมมือกับสภาคณบดีในการพัฒนาเครื่องมือวัดทักษะวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม การทดสอบดังกล่าวจะจัดสอบในปลายปี 2557 นี้ ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สทศ.จะนำยูเน็ตมาใช้ในการทดสอบคัดเลือกนิสิต นักศึกษาครูเข้าร่วมโครงการผลิต ครูมืออาชีพ ประจำปี 2557 ด้วย ซึ่งจะจัดสอบในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ด้วย โดย จะจัดสอบใน 4 วิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และวิชาชีพครูและกฎหมายการศึกษา อย่างไรก็ตาม การสอบยูเน็ตเป็นการทดสอบที่วัดรอบด้าน ทั้งความรู้ ทักษะทางปัญญา การคิดวิเคราะห์ รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรม ดังนั้น ต่อไปในการสอบ ระดับชาติประเภทอื่นๆ อาทิ แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต จะต้องมีการปรับทิศทางการวัด ให้มีความรอบด้านมากขึ้น โดยจะต้องมีการวัดด้านคุณธรรมและจริยธรรมด้วย ซึ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัยว่าการวัดรอบด้านจะพัฒนาให้เป็นระบบได้อย่างไร สทศ.ได้มีการทำความเข้าใจกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านทางรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการทั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งยังมีส่วนของสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เป็นต้น น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจและมีจำนวนสมัครเข้าร่วมการทดสอบยูเน็ต นอกจากนี้ สทศ.จะจัดกิจกรรม รณรงค์และประสานไปยังนายจ้างของสถานประกอบการต่างๆ เพื่อขอให้ใช้ผลการทดสอบยูเน็ตเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในสถานประกอบการ นั้นๆ ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ : 24 เม.ย. 57 อ่าน 1526 ครั้ง คำค้นหา : |