เร่งสร้างมาตรฐานแก้ไขจุดอ่อนวิชาชีพครูปฐมวัย
ประธานคุรุสภา ชี้จุดอ่อนวิชาชีพปฐมวัย
ขาดการจัดการองค์ความรู้ หลายคนเลือกเรียนเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร
ขาดการดูแลและยกย่องอย่างเหมาะสม
แนะให้ขอใบประกอบวิชาชีพสำหรับครูปฐมวัยโดยเฉพาะ ด้านอดีตผู้ทรงคุณวุฒิ
สกศ.แนะ บริหารจัดการการศึกษาปฐมวัย เน้นห้องเรียนธรรมชาติ
สอนเล่นตามสภาพแวดล้อมดีกว่าสอนตามหลักสูตรภาคบังคับ
ศ.ดร.ไพฑูลย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าวในงาน
ประชุมทางวิชาการเรื่อง แนวทางการปฎิรูปการศึกษา
:รอยเชื่อมต่อสู่คุณภาพเด็กในอนาคต จัดโดยครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.)
เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า
ตอนนี้คนที่มาเลือกเรียนครูเป็นคนเก่งมากขึ้นแต่หน่วยงานในระบบวิชาชีพ
ครูเองกลับไม่ได้ส่งเสริมให้คนอยากเป็นครูสามารถอยู่ในวิชาชีพครู
และทำหน้าที่ของความเป็นครูให้ดีที่สุดได้ อย่างไรก็ตาม
กลุ่มวิชาชีพครูปฐมศึกษา มีข้อด้อยที่ต้องได้รับการแก้ไข ดังนี้
1.องค์ความรู้ด้านปฐมวัยยังกระจัดกระจาย
ไม่มีองค์ความรู้ที่ใช้ได้และครบถ้วน
ควรมีหน่วยงานกลางในการรวบรวมองค์ความรู้ด้านนี้ 2. คนในวงการวิชาชีพปฐมวัย
ยังไม่เหมาะสม และไม่จริงจังกับอาชีพนี้
หลายคนเข้าเรียนเพราะไม่รู้จะเลือกอะไร
ทั้งที่ครูปฐมวัยสำคัญมากในการพัฒนาเด็ก ไม่ใช่สอนเด็กในโรงเรียนอย่างเดียว
แต่สอนคนในสังคมให้เข้าใจเรื่องนี้ด้วย
อยากเสนอให้ทุกคนในกลุ่มวิชาชีพปฐมวัย
ต้องทำการวิจัยค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ให้เป็นที่เข้าใจในสังคม
อีกทั้งการคัดเลือกคนเข้าเรียน เข้าทำงาน ต้องมีความมุ่งมั่น
3.กลุ่มวิชาชีพครูปฐมวัยต้องได้รับการยกย่องและค่าตอบแทนที่เหมาะสม
อย่ามองว่าใครๆก็เป็นได้ 4.สมาคมวิชาชีพปฐมวัย ต้องเข้มแข็ง
เป็นตัวแทนในการทำความเข้าใจ
หรือเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อปกป้องวิชาชีพของตนเอง และ
5.วิชาชีพครูปฐมวัย
ต้องรวมตัวกันเพื่อให้คุรุสภาออกใบประกอบวิชาชีพสำหรับครูปฐมวัยโดยเฉพาะ
เพราะแกนกลางของคุรุสภาอาจจะไม่เพียงพอในการทำหน้าที่ของครูปฐมวัย
ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจริยะ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
กล่าวว่า อดีตการเรียนรู้ของคนเริ่มต้นเมื่อเกิด แต่ 25 ปีให้หลัง
พบว่าเริ่ม 1 ขวบก็สายไปแล้ว
การพัฒนาเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ให้ความรู้แก่คนที่จะเป็นพ่อเป็นแม่
เพราะการเรียนรู้ของเด็กเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา
แต่ในประเทศไทยกลับให้ความสำคัญการศึกษาปฐมวัยน้อย
และรูปแบบการจัดการศึกษาก็ยังไม่ชัดเจน
เพราะต่อให้มีเจ้าภาพในการดูแลชัดเจน คือ องค์การบริหารส่วนตำบล
(อบต.)และส่งต่อไปยังโรงเรียนอนุบาลต่างๆ
แต่การดำเนินการบริหารการศึกษายังไม่ชัด
เป็นเพียงภาคบังคับแบบเดียวกันทั้งประเทศไม่ได้เป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติ
ของเด็กในแต่ละช่วงวัย
"การศึกษาล้มเหลว เพราะลืมดูที่ตัวผู้เรียน ทุกคนบอกว่านักเรียนสำคัญ
เป็นศูนย์กลาง แต่การตีความกลับแตกต่างออกไป ครูบางคน
โรงเรียนบางแห่งปล่อยให้เด็กเป็นอิสระจนไม่สนใจการเรียนรู้ ขณะเดียวกัน
ระบบการบริหารจัดการ ไม่ใส่ใจเรื่องเด็กและไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน
ถ้าจะปฎิรูปการศึกษาต้องเริ่มปฎิรูปการบริหารจัดการการศึกษาปฐมวัย
จัดการห้องเรียนตามธรรมชาติ เพราะตราบใดที่ห้องเรียนยังเป็นสี่เหลี่ยม
และสื่อยังเป็นแบบกล่องเสมือนจริง
ไม่ได้ปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ
จากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเด็ก เน้นสอบมากกว่าเล่น
ปฎิรูปการศึกษาก็จะไม่สำเร็จ" ผศ.ดร.เลขา กล่าว
ทีมา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 กุมภาพันธ์ 2558 |
โพสเมื่อ :
02 ก.พ. 58
อ่าน 1482 ครั้ง คำค้นหา :
|
|