![]() |
อาชีพครูอาจารย์ เป็นอาชีพสำคัญที่สร้างความรู้และการศึกษาในชาติ โดยเฉพาะการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ยิ่งต้องการคนเก่ง มีความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่หลังจากมหาวิทยาลัยไทยออกนอกระบบ ที่หลายคนหวังว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยมีอิสระจากรัฐมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารบุคลากร กลับทำให้อาจารย์แต่ละคน ยืนอยู่บนเส้นบางๆ กระทั่งหากได้รับรู้ก็จะพบว่า ความมั่นคงในชีวิต น้อยกว่าพนักงานบริษัทเอกชนเสียอีก รศ.ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ คือหนึ่งในผู้ที่ต่อสู้ให้กับพนักงานในมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ข้าราาชการมากนาน เปิดเผยว่า ล่าสุดมีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน กำลังจะถูกไม่ต่อสัญญา ด้วยลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะน่ากังวลว่าจะเกิดจากการกลั่นแกล้งของการเมืองในมหาวิทยาลัย ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เริ่มเล่า โดยอธิบายถึงที่มาที่ไปของปัญหาอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย ว่า ตั้งแต่มีมติ ครม.ปี 2542 ที่กำหนดนโยบายให้มีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยในปีนั้น มหาวิทยาลัยที่พร้อมมีไม่กี่แห่ง ซึ่งจะเปลี่ยนระบบการบริหารกำลังคน ต่อไปก็จะไม่มีข้าราชการแล้ว แต่จะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแทน ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2542 จนถึง ปี 2558 มีพนักงานมหาวิทยาลัยประมาณ 130,000 คน ล่าสุดเหลือข้าราชการอยู่เพียง2หมื่นคนเท่านั้น ขณะที่พนักงานมหาวิทยาลัย มีจำนวนประมาณ 110,000 คน ซึ่งในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยกว่า 80 มหาวิทยาลัย เรื่องสำคัญคือมหาวิทยาลัยมีสิทธิที่จะจัดการตนเอง และกำหนดกติกาเอง โดยมหาวิทยาลัยใหญ่ๆอย่างจุฬาฯ หรือ เกษตรศาสตร์ หรือ มหิดล มักจะไม่พบปัญหามาก เเต่มหาวิทยาลัยเล็กๆ จะเริ่มมีปัญหาแล้ว เหมือนกับการเหยียดผิว เชื้อชาติกัน พอมีน้องๆมาใหญ่ก็จะมีการตั้งกติกา เช่นการตั้งกติกาการให้สอนหนึ่งปี เเล้วค่อยต่อสัญญา เพราะมติคณะรัฐมนตรี ไปให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยในการบริหารงานบุคคล เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยเล็กๆ จึงไปออกระเบียบกันเอง เช่นกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจ.เชียงใหม่ ที่ออกกติกาว่า ครบหนึ่งปี เมื่อผ่านโปร ก็จะต่อสัญญาให้เป็นสามปี แล้วต่อไปอีกครั้งเป็นห้าปี จึงเกิดความไม่แน่นอนในระบบอุดมศึกษา "จึงจะเห็นว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยช่วงหลังๆ จะไม่ออกมาให้สัมภาษณ์อะไรที่สุ่มเสี่ยง คนที่ออกมาพูดเรื่องบ้านเมือง ก็จะมีเพียงไม่กี่คน เช่นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเขาอยู่ในระบบข้าราชการ ที่จะมีระบบป้องกันตัวเองสูง คือ เข้ายาก และก็ออกยากด้วย"รศ. วีรชัย ระบุ ขณะที่อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เข้ายากมาก แต่กลับถูกให้ออกง่ายมากๆ และระบบนี้ยังไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน ไม่เหมือนพนักงานบริษัทเอกชน ที่ยังอยู่ภายใต้กฏหมายแรงงาน ที่กรณีถูกไล่ออกแบบอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย บริษัทก็จะจ่ายค่าชดเชย หกเดือนหรืออะไรก็ว่าไป แต่กรณีล่าสุด ของอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งสอนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พอถูกให้ออก ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆเลย จึงส่งผลกระทบต่อระบบอุดมศึกษาโดยรวม รศ. วีรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จะเห็นได้ว่าอันดับของมหาวิทยาลัยของไทยร่วงมาโดยตลอด เพราะมันเปิดโอกาสให้มีการไล่คนออกได้ง่าย อาจารย์จะเก่งหรือไม่ไม่สำคัญ แต่อยู่ที่ว่าจะเข้าตัวองค์กรได้หรือไม่ มันจึงเกิดช่องว่างในการกลั่นแกล้ง ซึ่งกรณีของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ถูกให้ออกล่าสุดที่รับทราบมานั้น คิดว่าน่าจะเกิดจากการกลั่นแกล้งอย่างแน่นอน เพราะอาจารย์คนดังกล่าวมีตำแหน่งบริหาร คือเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และได้รับทราบมาตลอดว่า เขามีความคิดเห็นอีกแนวหนึ่ง ในการปกป้องผลประโยชน์ของบุคลากร ซึ่งอาจจะมีข้อพิพาทในกรรมการสภาฯ กระทั่งได้ข่าวมาว่ามีการตั้งธงจะเขาเขาออกให้ได้ โดยในส่วนการเอาอาจารย์ออกในมหาวิทยาลัยเล็กๆอย่างถูกกฎหมายนั้น ก็คือการระบุว่าไม่ต่อสัญญาจ้าง ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่กรณีเเรก แต่เป็นสิ่งที่เกิดมาบ่อยครั้งนับร้อยกรณีแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไปฟ้องศาลและเเพ้คดี เพราะศาลปกครองก็จะตัดสินโดยอ้างมติคณะรัฐมนตรี ปี 2542 ที่ระบุว่าเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย จะไปฟ้องศาลแรงงานก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุเลยว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่อยู่ในการคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน ฉะนั้่นไม่ว่าจะฟ้องศาลไหนก็แพ้ จึงเห็นได้ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยสมัยใหม่ไม่มีความมั่นคงเลย จึงส่งผลต่อคุณภาพอย่างมาก เพราะอาจารย์ที่เก่งๆดีๆ ก็ต้องก้มหน้าก้มตาสอนหนังสืออย่างเดียว อีกกรณีคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่เพิ่งได้รับเเจ้งเข้ามาเหมือนกัน และทั้งคู่จะถูกให้ออกจากงานพร้อมกันเลย คือในเดือนตุลาคมนี้ โดยกรณีนี้ เป็นการถูกกล่าวหาว่า ออกคำสั่งให้ตนเองและนักศึกษาเดินทางไปราชการที่อื่น โดยที่ตนเองไม่มีอำนาจ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สมควร ทั้งยังกล่าวหาว่าเป็นการใช้เวลาว่างไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ทำให้มหาวิทยาลัยเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งเงินเดือนและรถยนต์ของมหาวิทยาลัยที่ใช้ในการเดินทาง ![]() ขณะที่เจ้าตัวได้ยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเเละรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมและยืนยันว่าตนเองไปราชการโดยมีเหตุผลบอันควรคือเพื่อเป็นการบริการสังคม ตามที่ได้รับการร้องขอ และมหาวิทยาลัย ก็อนุมัติเช่นนี้มาเป็นเวลากว่า 5 ปีเเล้ว ![]() โดย รศ.ดร. วีรชัย แสดงความเห็นส่วนตัว ยืนยันว่าทั้งกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดนี้ เป็นการยัดข้อหาโดยตรง เเละทั้งสองกรณีทั้งคู่มีสถานะเป็น "กรรมการสภามหาวิทยาลัย" ทั้งคู่ โดยในส่วนของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจ.เชียงใหม่นั้่น ก็กำลังจะได้ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์อีกด้วย เพราะยื่นขอไปสองปีแล้ว แต่ก็ถูกกั๊กไว้ โดยผู้บริหารที่ต้องการเอาเขาออก เพราะหากให้ อาจารย์ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ออก มันก็จะเป็นข่าวดังมากกว่า การเอา "ด็อกเตอร์" ธรรมดาออก ทั้งที่เป็นอาจารย์มาตั้ง 5 ปีแล้ว ส่วนที่มีคนแนะนำให้ฟ้องศาลนั้น คาดว่าจะต้องมีการดำเนินการแน่นอน แต่จากที่ผ่านมาก็พบว่าศาลจะพิพากษา ไปตามกรณีเก่า ซึ่งมันก็เป็นอำนาจตามกฎหมายที่อนุญาตให้มีสิทธิ์ทำได้ ซึ่งก็น่าจะก้าวไปเล่นเรื่องอาญา ที่ต้องดูรายละเอียดอีกทีว่าฟ้องได้ไหม เพราะการฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองคำสั่งเพิกถอนให้ออกจากตำแหน่ง ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี แน่นอนว่า อาจารย์ดังกล่าวคงไปทำอย่างอื่นแล้ว มันมีผลกระทบต่อเขาในการไปทำงานที่อื่น เพราะการไม่ต่อสัญญามันแรงมาก เขาเป็น ด็อกเตอร์อายุยังน้อย 30 กว่าๆ จะไปสมัครที่อื่นก็พบว่าเคยถูกมหาวิทยาลัยไม่ต่อสัญญามา แล้วใครจะเอาหล่ะครับ ซึ่งกรณีนี้ เขาก็มีลูกแถมยังกู้สหกรณ์ มีหนี้สิน จบ นี่คือความไม่เสถียรมากๆ เป็นกลไกลทางการเมืองที่ถูกใช้ในมหาวิทยาลัยในการกลั่นแกล้งอาจารย์ ที่มีอุดมการณ์หายไปหมด ไม่ใช่แค่กรณีนี้ ก่อนหน้านี้มีการไม่ต่อสัญญา อาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งทางภาคใต้ถึง 4 คน โดยทั้งหมดเป็นกรรมการสภามหาวทิยาลัย ซึ่งวิเคราะห์จากเหตุการณ์ทั้งหมดเเล้วก็ไม่สามารถที่จะปฎิเสธได้ว่าน่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง ในมหาวิทยาลัยหลักๆของประเทศก็มีเหมือนกัน แต่ที่รอดมาได้ เพราะมีตำแหน่งระดับรองศาสตราจารย์ รวมถึงมีชื่อเสียง เป็นข้าราชการซี 9 มาก่อน จึงรอดมาได้ ที่กังวลคืออาจารย์ยุคใหม่ๆ รศ.ดร.วีรชัย เล่าอีกว่า ได้คุยกับอาจารย์ ดร.คนดังกล่าวที่กำลังจะถูกไล่ออกจาก มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ล่าสุดเขารู้สึก เสียใจมาก ซึ่งขณะนี้เขากำลังถูกเรียกไปฝึกกำลังพลสำรอง ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามกฎหมายทหาร เพราะเขาไม่ใช่ข้าราชการ "จึงอยากฝากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งต้องถามว่าถ้าระบบการศึกษายังเป็นแบบนี้อยู่ แล้ว อุดมศึกษาเมืองไทยจะไปได้อย่างไร คิดว่าควรนำระบบประเมินศักยภาพมาใช้ ดีกว่าระบบต่อสัญญาแบบนี้ เพราะทำแบบนี้จะเห็นอาจารย์ที่้เป็นเครื่องจักร ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่กล้าแสดงความเห็นต่าง โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง เพราะไม่รู้ว่าผู้บริหารอยู่สีไหน หากไม่ถูกใจก็อาจถูกเอาออกได้"รศ. วีรชัย กล่าวทิ้งท้าย ที่มา : นพส.มติชนออนไลน์ |
โพสเมื่อ : 17 ส.ค. 58 อ่าน 1906 ครั้ง คำค้นหา : |