เล็งใช้คำ "เพิ่มความเป็นอิสระ" ให้แก่สถานศึกษาแทน "กระจายอำนาจ"



ศธ.มีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้คำว่า "เพิ่มความเป็นอิสระ" ให้แก่สถานศึกษาแทน "กระจายอำนาจ" จากผลการประชุมคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมา 

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหน่วยงานในกำกับ ศธ. มาให้ความคิดเห็นในการทบทวนภารกิจและโครงสร้าง ศธ. ที่สำนักงานปลัด ศธ.ได้ร่างเอาไว้ ซึ่งหลักคิดคือการปรับโครงสร้างต้องเกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ สามารถบูรณาการงานอย่างครอบคลุม รวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการศึกษาด้วย เพราะที่ผ่านมาการทำงานในรูปแบบโครงสร้าง ศธ.เดิมพบปัญหาเรื่องการติดตามและประเมินผล อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังไม่ได้มีข้อสรุป แต่หลักการเบื้องต้นของการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะไม่เพิ่มอัตรากำลังคน และงบประมาณอย่างแน่นอน รวมถึงจะใช้คำว่าเพิ่มความเป็นอิสระให้แก่สถานศึกษาแทนกระจายอำนาจ


ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เห็นตรงกันว่าโครงสร้างต้องปรับเปลี่ยนไปตามภารกิจ ที่ต้องมีอยู่คือ กรมวิชาการ กรมปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมอาชีวศึกษา ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีความกังวลว่าจะปรับโครงสร้างกันอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับภารกิจของ สอศ.ที่มุ่งเน้นผลิตกำลังคนสายอาชีพตามที่รัฐบาลมอบหมาย โดยมีข้อเสนออย่างน้อย 4 กรมนั้น ที่ประชุมได้รับข้อเสนอของ สอศ.เพื่อนำมาจัดทำรูปแบบโครงสร้างและนำเสนออีกครั้ง อย่างไรก็ตามตนได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปเขียนข้อดีข้อเสียของโครง สร้างเก่าว่ามีข้อขัดข้องประการใดบ้างที่คิดว่าโครงสร้างใหม่จะแก้ไขได้ รวมทั้งโครงสร้างใหม่ที่จะส่งผลให้การทำงานไม่ราบรื่น หลังจากนั้นจะนำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะสังเคราะห์รูปแบบโครงสร้าง ศธ. ได้ประมาณ 2-3 รูปแบบ จากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลและหน่วยงานภายนอก อาทิ ผู้ปกครอง นักเรียน นักวิชาการ

นพ.กำจรกล่าวต่อว่า ข้อสรุปดังกล่าวนั้น คาดว่าปลายเดือน ธ.ค.58 จะเสนอที่ประชุมองค์กรหลักและให้ รมว.ศึกษาธิการ นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษาต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติมได้จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558


โพสเมื่อ : 16 พ.ย. 58   อ่าน 1371 ครั้ง      คำค้นหา :