รมช.ศธ. เดินหน้าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ



รมช.ศธ. เดินหน้าการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสู่ประชาคมอาเซียน ชู หลักสูตรเฉพาะพื้นที่ เสริมสร้างทักษะอาชีพ ภาษา ลดความเหลื่อมล้ำนำสู่ศักยภาพในการแข่งขัน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2558 พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิดโครงการการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสู่ประชาคมอาเซียน โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ข้าราชการ สพฐ. รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา คณะครู นักเรียน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน ณ โรงแรมแม่โขงรอยัล จังหวัดหนองคาย

ภาพน่ารักๆ ของ รมช.ศึกษาธิการ กับเด็กนักเรียน

ตามที่ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้กำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขึ้น โดยวัตถุประสงค์สำคัญในการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามตะเข็บชายแดน ใน 10 จังหวัด ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.สะเดา จ.สงขลา ชายแดน จ.มุกดาหาร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ชายแดน จ.ตราด ชายแดน จ.เชียงราย ชายแดน จ.กาญจนบุรี ชายแดน จ.หนองคาย ชายแดน จ.นครพนม และชายแดน จ.นราธิวาส ซึ่งติดต่อกับ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และมาเลเซีย เพื่อเป็นการสร้างฐานการผลิตเพื่อเชื่อมโยงกับอาเซียน และพัฒนาเมืองชายแดน ให้เป็นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เป็นประตูรองรับการเชื่อมโยงสู่อาเซียน

รมช.ศธ. กล่าวว่า การพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลเดินหน้าผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เมื่อพัฒนาพื้นที่แล้วประชาชนต้องได้ประโยชน์ เศรษฐกิจของชุมชนได้รับการพัฒนาและเจริญยิ่งขึ้น คนในพื้นที่ต้องไม่เสียโอกาส ดังนั้น ต้องดำเนินการอย่างเท่าทันและสอดคล้องกับพื้นที่ พัฒนาการทำงานไปสู่แบบที่พิเศษอย่างแท้จริง โดยมีแนวทางที่สำคัญ คือ การทำให้คนไทยมีทักษะมีฝีมือสูงขึ้น คนไทยต้องก้าวขึ้นเป็นระดับหัวหน้างาน ได้รับค่าตอบแทนที่สูง และให้ดำรงชีพในพื้นที่ได้อย่างมีความสุข ถือเป็นการมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ซึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุด คือ เด็กและเยาวชนที่ต้องได้รับการพัฒนาและมีการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม

พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.)

กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. มีการขับเคลื่อนเชิงรุกในการพัฒนาการจัดการศึกษาให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยต้องมุ่งเน้นการดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน และเป็นต้นแบบในการขยายผล ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก คือ 1) การน้อมนำหลักคิดและแนวปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการพัฒนาทุกมิติ 2) การลดความเหลื่อมล้ำทางศึกษา คือ ให้โอกาส ความเสมอภาค และความเป็นธรรมในด้านการศึกษามีกลไกสำคัญ เช่น การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และ DLIT เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เป็นต้น 3) การศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ นักเรียนได้มีช่องทางพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจของตนเอง รวมถึงความต้องการของพื้นที่ ประเทศ และประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะภาษา ทักษะการทำงาน รวมถึงทักษะชีวิต ที่เหมาะสม ตามเป้าประสงค์ที่สำคัญ คือ การเตรียมนักเรียนให้มีความพร้อม มีคุณลักษณะและสมรรถนะในการทำงานที่เหมาะสมด้วย

ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

4 แนวทางการขับเคลื่อนและจุดเน้นในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) แผนการดำเนินงาน ต้องมีเป้าหมาย ขั้นตอนการปฏิบัติงาน กระบวนการ และการประเมินผลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม เน้นการพัฒนาทั้งระบบ เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับบริบทชุมชน เชื่อมโยงท้องถิ่นสู่สากล 2) หลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ มีการบูรณาการหลักสูตรแกนกลางอาเซียน (ASEAN Curriculum Sourcebook) ส่งเสริมการสื่อสารภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน และภาษาของประเทศคู่ค้า พัฒนาให้นักเรียนเป็นตัวเลือกในการเข้าสู่แรงงานระดับฝีมือของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการเป็นเจ้าของสถานประกอบการ หรือการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก (SME) โดยมีการต่อยอดเชื่อมโยง สพฐ. กับ อาชีวศึกษา ด้วยโครงการทวิศึกษา ที่เรียนจบแล้ว ได้รับ 2 วุฒิ เป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มทางเลือกให้กับนักเรียน 3) การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ระดมภูมิปัญญาและทรัพยากรในชุมชนและจังหวัดที่มีอยู่แล้ว เป็นฐานในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านอาชีพ 4) การพัฒนาครู ผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้มีความพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ และเจตคติที่เหมาะสม

การพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะเตรียมการพัฒนาเด็กและเยาวชนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ยังเป็นการสร้าง “ทุนมนุษย์” ของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนารูปแบบการกระจายโอกาสด้านความเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งมีการต่อยอดของเด็กและเยาวชน สู่การประกอบอาชีพและการมีงานทำอย่างมีคุณภาพ และเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยใช้การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา ที่จะทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งตามวิสัยทัศน์รัฐบาล คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป รมช.ศธ.กล่าว.

ที่่มา : นสพ.ไทยรัฐ


โพสเมื่อ : 11 ก.ย. 58   อ่าน 1450 ครั้ง      คำค้นหา :