ความล้มเหลวระบบ"ประเมิน"ทำการศึกษาไทยรวนกว่า 2 ทศวรรษ



เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2557 ที่ห้อง405 อาคาร3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะนิสิตระดับดุษฎีบัณฑิตภาคนอกเวลาราชการ รุ่นที่9 สาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จัดสัมมนาหัวข้อ "บทบาทใหม่ของสมศ. เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย" โดยมี นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่นิสิตปริญญาเอกและคณะอาจารย์จากสถานศึกษาต่างๆร่วม ฟังบรรยายและอภิปรายเพื่อร่วมกันเสนอแนะความคิดเห็นต่อ สมศ. และนำไปสู่การปฏิรูปและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน

นายพฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานสาขาวิชาบริหารการศึกษา ครุศาสตร์ จุฬาฯประธานเปิดงานสัมมนากล่าวว่า ประเทศของเราได้ปฏิรูปการศึกษาเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่การบริหารการศึกษา แต่ยังไม่เกิดประสิทธิผลในการพัฒนาการศึกษาในภาครัฐ ขณะที่เราวิเคราะห์ว่าด้านการศึกษาในภาคเอกชนจะเน้นการบริหารคุณภาพการศึกษา เมื่อประเมินผลงานออกมาพบว่าโรงเรียนเอกชนไม่ได้ด้อยไปกว่าภาครัฐ และดีกว่าภาครัฐในหลายๆด้านด้วยซ้ำ

"การปฏิรูปการศึกษาของไทย พบว่ากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คุณภาพการศึกษาไม่ได้ดีขึ้น จึงหวังว่าการสัมมนาวันนี้จะมีข้อมูลที่รอบด้าน นำไปสู่การเสนอสมศ.เพื่อวางบทบาทใหม่ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างแท้ จริง"

จากนั้น นายสมหวัง กล่าวว่า ชื่นชมในการเลือกหัวข้อสัมมนาที่ดีในการช่วยสมศ.ที่ป่วยหนักอยู่ในขณะนี้ จึงน่าจะช่วยกันเยียวยาโดยด่วน เรื่องนี้องค์กรไม่ผิด แต่ผิดที่วิธีประเมิน

อดีตผอ.สมศกล่าวว่า วิธีการประเมินที่ผิดตั้งแต่เอกสารประเมินรอบ 1 ไม่ควรระบุว่าผ่าน/ไม่ผ่าน รอบแรกถ้าประเมินแล้วจะไม่มีการรายงานสู่สาธารณะ แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน และระมัดระวังในการเปรียบเทียบระหว่างรอบ การประเมินรอบ 3-4 วิชาการเยอะมากและยึดกฎหมายมาตรา51 เป็นสำคัญ ดังนั้นการประเมินการศึกษาไม่ควรนำวิธีการประเมินมาใช้คู่กับวัฒนธรรมอำนาจ

"สังคมไทยเป็นสังคมที่ รักษาหน้าตา เสียหน้าไม่ได้ และสังคมไม่ต้องการการประเมินที่ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ชอบการประเมินแบบดอกไม้ ชมกันไปชมกันมา แบบนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ยุคสมัยผมวางกฎเหล็กการประเมินการศึกษาไว้คือ ห้ามรบกวนโรงเรียนให้โรงเรียนทำการเรียนการสอนปกติ ให้สถานศึกษามีระบบประกันคุณภาพภายในอีกทั้งสพฐ.(สำนักงานส่งเสริมการศึกษา ขั้นพื้นฐานต้องให้เขายกระดับการศึกษาของเขาเองสมศ.มีแค่หน้าที่กระตุ้น"

ด้านนิสิตปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ถึงภารกิจของสมศ.ที่นอกจากไม่ส่งเสริมคุณภาพแล้วยังเป็นการรบกวน เวลาเรียนของนักเรียนอีกด้วย

โดยตั้งคำถามถึงวิธีการประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาไทย ที่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่จำเป็น เช่น -เด็กต้องทำทุกอย่าง เพื่อการบำเพ็ญประโยชน์ มีสมุดพกความดี เก็บไว้เพื่อสมศ.ถามถึงก็ต้องมีไว้แสดง ทุกโรงเรียนเหมือนกันหมด

-เด็ก พยายามจะซ่อนตัว อยู่ในห้องแบบเงียบที่สุด เมื่อสมศ.เข้ามาประเมินโรงเรียน เด็กจะหลบเพื่อเลี่ยงไม่ต้องตอบคำถาม ไม่ให้โรงเรียนเสียหายเพราะทุกคนรักโรงเรียน เช่นคำถามที่ต้องท่องจำมาตอบ

-เวลา เรียนหมดไปกับกิจกรรมวันสำคัญต่างๆที่สมศ.กำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการ ประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีเยอะมาก โรงเรียนแต่ละแห่งก็ต้องจัดงานให้เป็นไปตามที่สมศ.ระบุไว้

-เสียเวลาครู เพราะต้องเอาเวลาไปทำเอกสารและประชุม แทนที่จะเอาเวลาไปสอนเสริมให้เด็ก แบบนี้เวลาให้นักเรียนก็น้อยลง

-ผู้ประเมินบางคนมาเพื่อตรวจแถวนักเรียนเท่านั้น มิได้มีความเข้าใจเรื่องการศึกษา

ฉะนั้น หากมีการประเมินการศึกษาในลักษณะนี้จะเกิดผลหรือเกิดประโยชน์ได้จริงหรือไม่ ในเมื่อสมศ.ถือใบสั่งมาตัดสินคุณภาพของโรงเรียนในเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด?

ข้อเสนอในวาระการสัมมนานี้คือ สมศ.น่าจะมีบทบาทใหม่ในรูปแบบการเป็น"โค้ช" เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย โดย โค้ชมีหน้าที่ในการชี้แนะแต่ไม่ใช่คำสั่ง ประเมินศักยภาพของแต่ละโรงเรียน คอยสนับสนุนหากผิดพลาดก็คอยซับพอร์ต ลดกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น รวมถึงการไม่หยิบเอาเกณฑ์เดียวมาประเมินแบบเหมารวมเพราะโรงเรียนแต่ละแห่ง นักเรียนมีจุดเด่นและความสามารถที่แตกต่างกัน สมศ.ควรจะสนับสนุนในจุดนั้นๆคือไม่ต้องเก่งเหมือนกันหมดแต่มีดีและโดดเด่น กันคนละด้านได้

ปัจจุบันความสัมพันธ์ของสมศ.กับสถานศึกษาห่างกันออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ควรจะหันมาเป็นเพื่อนร่วมทางกันนำไปสู่การพัฒนา และมีมาตรฐานที่ยอมรับได้ อย่างมืออาชีพ

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 13 ธันวาคม 2557


โพสเมื่อ : 14 ธ.ค. 57   อ่าน 1493 ครั้ง      คำค้นหา :