ศ.ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล ประธานคณะทำงานการปฏิรูปการศึกษา นิด้าโมเดล ปฏิรูปประเทศไทย ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เปิดเผยว่า ภาพรวมการศึกษามีข้อเสนอคือ ต้องเลิกระบบจัดสรรเงินงบฯรายหัวนักศึกษา เพราะทำให้สถาบันอุดมศึกษารับเด็กจำนวนมากเพื่อได้เงินมาก ส่งผลให้บางสาขาที่จำเป็นไม่มีผู้เรียน เช่น สาขาการสอนเด็กออทิสติก เป็นต้น โดยเปลี่ยนมาจัดสรรเงินตามอาจารย์ต่อนักศึกษา ซึ่งหากมีอาจารย์จำนวนน้อยก็จะไม่สามารถรับนักศึกษาจำนวนมากๆได้ ส่วนกองทุนเงินกู้ของนักเรียนนักศึกษาทั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ต้องยุบรวมเป็นกองทุนเดียวกัน โดยนำจุดเด่นของแต่ละกองทุนมากำหนดเกณฑ์ เน้นกระจายอำนาจระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เขตพื้นที่มากขึ้น ขณะที่หลักสูตรควรเน้นเนื้อหาของแต่ละพื้นที่ เลิกแนวคิดยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยดึงปราชญ์ชาวบ้านมาสอน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษา
ศ.ดร.วิชิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ควรปรับปรุงกระบวนการประเมินสถานศึกษาทุกระดับที่มุ่งเน้นประโยชน์ที่นัก เรียน นักศึกษาโดยตรงอย่างแท้จริง ที่สำคัญต้องนำเรื่องการเรียนซ้ำชั้นกลับมาใช้ ทำให้การศึกษามีคุณภาพ ขณะที่รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้คนดีคนเก่งมาเป็นครูระดับการศึกษาขั้นพื้น ฐาน เช่น จัดบ้านพักให้ เป็นต้น ส่วนวิธีการประเมินนักเรียน ควรใช้ข้อสอบระดับชาติทดสอบ ป.6 ม.3 และ ม.6 และใช้คะแนนนี้ของ ม.6 มาแทนคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือ จีแพ็กซ์ ทั้งยกเลิกการสอบโอเน็ต ส่วนคะแนนสอบแบบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT และแบบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ให้คงไว้ เพื่อใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ด้านอาชีวศึกษา ควรเน้นให้สมาคมวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมจัดการอาชีวศึกษา ส่วนระดับอุดมศึกษา ควรแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ออกจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อลดขั้นตอนการบริหารงาน.