สมศ.โชว์ผลงาน 1 ช่วย 9 โกอินเตอร์อังกฤษชอบ สมศ. โชว์โครงการ 1 ช่วย 9 ได้รับความสำเร็จในต่างประเทศ จับมือ CfBT ประเทศอังกฤษ ร่วมเป็นพันธมิตรพัฒนาสถานศึกษาในประเทศไทย ประเดิมส่งครูอังกฤษลงพื้นที่จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แผนต่อไปเตรียมขยายต่อสร้างแนวร่วมจากหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมพัฒนาสถานศึกษาโดยรอบหวังเกิดพลังขับเคลื่อนคุณภาพสถานศึกษา ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ 1 ช่วย 9 ว่า โครงการนี้ดำเนินการถึงปัจจุบันเข้าปีที่ 4 โดยเริ่มครั้งแรกปี พ.ศ.2554 โดยเชิญชวนสถานศึกษาที่มีผลการประเมินคุณภาพระดับดีมากสมัครเข้าร่วมเป็นแกนนำ เพื่อช่วยพัฒนาโรงเรียนที่มีผลการประเมินคุณภาพตั้งแต่ระดับดีลงมา ให้มีผลการการประเมินคุณภาพที่ดีขึ้น ล่าสุด สมศ. ได้ขยายความร่วมมือไปยังต่างประเทศ โดยได้เสนอโครงการฯไปที่ประเทศอังกฤษ และได้รับการตอบรับจากสมาคมครูอาจารย์ของประเทศอังกฤษ ในนาม The Centre of British Teachers หรือชื่อย่อว่า CfBT และได้ลงนามความร่วมมือกับ สมศ. ในงานประชุมวิชาการประจำปี ที่ไบเทค บางนา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชนอีก 8 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท แพรนดา จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด 3.กลุ่มบริษัทไมเนอร์ กรุ๊ป 4.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) 5.มูลนิธิ SCG 6.มูลนิธิสยามกัมมาจล 7.มูลนิธิดำรงชัยธรรม 8.บริษัท ดับบลิวซีเอสซันชิโร่ (ประเทศไทย) จำกัด หลังจาก สมศ. ได้มีโอกาสได้นำเสนอโครงการ 1 ช่วย 9 กับ CfBT ประเทศอังกฤษ ได้รับความสนใจมาก ซึ่งเขามองว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นการสร้างความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ในเบื้องต้นทาง CfBT ได้ส่งครูอาสาสมัครจากประเทศอังกฤษ มาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับสถานศึกษาในเครือข่าย และลงพื้นที่ศึกษาความต้องการ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเยี่ยมชมสถานศึกษา เพื่อศึกษาวิเคราะห์หาความต้องการเพื่อนำสู่การพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานศึกษาแต่ละแห่ง ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวต่อว่า สมศ. คาดหวังให้เกิดความร่วมมือช่วยเหลือสถานศึกษาให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้จะขยายความร่วมมือไปสู่หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนมาในโครงการนี้ให้มากขึ้น เช่น ธนาคาร โรงงาน ไปรษณีย์ บริษัทเอกชน เป็นต้น โดยให้หน่วยงานต่างๆ ดูแลช่วยเหลือสถานศึกษาที่ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ หรือใกล้กับหน่วยงานนั้นๆ จะทำให้เกิดผลกระทบมากต่อการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากรากฐานของการศึกษาเนื้อแท้คือ การให้ หากทุกหน่วยงานได้ให้การศึกษาที่ดีมีคุณภาพกับชุมชน จะทำให้เกิดสังคมโดยรอบในชุมชนมีคุณภาพไปด้วย แนวคิดหลักของโครงการ 1 ช่วย 9 มาจากพื้นฐานวัฒนธรรมไทยจากความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงใช้ฐานคิดนี้ขยายสู่การสร้างความร่วมมือสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการประเมิน จะช่วยให้เกิดผลสำเร็จได้ในลักษณะพี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน คนพร้อมมากกว่าช่วยคนพร้อมน้อยกว่า โดยชักชวนสถานศึกษาที่มีผลการประเมินในระดับคุณภาพดีมาก สมัครเข้ามาช่วยเหลือสถานศึกษาที่ไม่ผ่านการประเมินในรูปแบบจิตอาสา โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากทางภาครัฐ หรือ สมศ. (Zero Budget) เพราะฉะนั้นสถานศึกษาที่เป็นแกนนำที่สมัครเข้ามาเป็นสถานศึกษาแกนนำ หรือเป็น 1 ต้องมีความพร้อมในหลายด้าน เป้าหมายคือ ช่วยเหลือให้สถานศึกษาทั้ง 9 แห่ง มีผลการประเมินคุณภาพภายนอกดีขึ้น ความช่วยเหลือไม่จำกัดเรื่อง ไม่จำกัดเงื่อนไข ไม่จำกัดพื้นที่สามารถช่วยเหลือต่างระดับ ต่างพื้นที่กันก็ได้ สำหรับโครงการ 1 ช่วย 9 ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ในปีแรกมีสถานศึกษาแกนนำเข้าร่วม 9 แห่ง ปีที่สอง 99 แห่ง และปีที่สาม 99 แห่ง รวมสถานศึกษาแกนนำในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 207 แห่ง และสถานศึกษาเครือข่ายรวมกว่า 1,800 แห่ง โดย สมศ. จะจัดกิจกรรมประจำปีเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์การให้ร่วมกัน ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง |
โพสเมื่อ : 17 เม.ย. 57 อ่าน 1409 ครั้ง คำค้นหา : |