อาชีวะก้าวต่อยอด 2 ปริญญา ไทย-อินโดฯ แข็งแกร่งไปด้วยกัน
อาชีวะก้าวต่อยอด 2 ปริญญา ไทย-อินโดฯ แข็งแกร่งไปด้วยกัน
การพัฒนาผู้เรียนโดยการ บูรณาการจากการเรียนรู้ประสบการณ์ในชีวิตจริง จะช่วยทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้อันมีค่า และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิตจริงในต่างประเทศจะยิ่งช่วยทำให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ภาษา วัฒนธรรม การตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ กระตุ้นให้นักเรียนมีความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงออก และพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมั่นใจ เพราะผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คิดเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาด้านภาษา วัฒนธรรม วิชาการ ทักษะชีวิต และการฝึกประสบการณ์ การฝึกงานไทย-อินโดนีเซีย เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ในสังกัดสอศ.ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการ ภาษา และวัฒนธรรมในต่างประเทศ โดยประเดิมส่งนักศึกษาชุดแรกไปเมื่อปี 2556 จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.)ลพบุรี 10 คน และวษท. ชัยภูมิ 1 คน รวม 11 คน เดินทางไปร่วมเปิดโลกทัศน์กับโรงเรียนมัธยมอาชีวศึกษาแห่งรัฐ (State Vocational High School) หรือเขียนเป็นภาษาอินโดนีเซียว่า Sekolah Menengah Kejuruan Negeri : SMKN ( เซอร์โกลาฮฺ เมิงเน็งกาฮฺ เกอร์จูรูอัน เนอร์เกอร์รี) จำนวน 2 แห่ง คือ SMKN 13 เมืองมาลัง (Malang) จังหวัดชวาตะวันออก และโรงเรียน SMKN 5 เมืองเจมเบอร์ (JEMBER) จังหวัดชวาตะวันออก จากนั้นต้นปี 2557 นักศึกษาอินโดนีเซีย 13 คน จากโรงเรียน SMKN 13 Malang ก็ได้มี โอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการ ภาษา และวัฒนธรรมไทยที่ วษท.ลพบุรี ในส่วนของไทยขณะนี้มีนักศึกษาอาชีวะของไทยจากวิทยาลัยเทคนิค (วท.)พระนครศรีอยุธยา จำนวน 7 คน เข้าร่วมโครงการ ณ โรงเรียน SMKN 1 Malang โดยมีกำหนดระยะเวลา 32 วัน ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) พร้อมด้วยนายจรัล ยุบรัมย์ ผอ.วท.พระนครศรีอยุธยา ได้นำคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมผลสัมฤทธิ์ของโครงการ รวมทั้งดูชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาไทยด้วย ซึ่ง สโรชา ฤทธิ์เดช หรือ โซเฟีย นักศึกษา ปวช. 3 แผนกเทคนิคคอมพิวเตอร์ วท.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาต่างประเทศ รู้สึกตื่นเต้นมาก ได้ประสบการณ์มากมายที่ไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งความรู้ทางวิชาการของอินโดนีเซีย เรื่องอาหาร และชีวิตความเป็นอยู่บอกได้เลยว่าไม่มีปัญหา เพราะโซเฟียเป็นมุสลิม จึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก แต่ประโยชน์ที่คิดว่าได้รับมากเป็นพิเศษคือการได้ฝึกพูด ภาษาอังกฤษ และภาษาอินโดนีเซีย ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ได้พบปะเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้และ ฝึกปฏิบัติงานด้วยตัวเองมากขึ้น และจากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้อยากได้มีโอกาส ไปเรียนรู้ในต่างประเทศอีก เพราะทำให้เห็น โลกกว้างขึ้นจริง ๆ น้องโซเฟีย บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับด้วยน้ำเสียงที่ยังแฝง ความตื่นเต้น ในขณะที่ ไกรวิชญ์ สุวรรณเมฆ หรือ อ๊อฟ ปวช. 3 แผนกเทคนิคคอมพิวเตอร์เหมือนกับโซเฟีย เผยความรู้สึกให้ฟังว่า ก่อนมาก็รู้สึกตื่นเต้นมากอยู่แล้ว เพราะไม่เคยไปต่างประเทศ พอได้เดินทางมาจริง ๆ ยิ่งตื่นเต้นหนักขึ้นไปอีก อีกทั้งการได้เข้าร่วมโครงการก็เป็นโอกาสที่ไม่ใช่ จะหาได้ง่าย ๆ ทำให้รู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา คิดอยู่ตลอดเพราะไม่รู้ว่าในแต่ละวันจะเจออะไรบ้าง แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมายอมรับว่าสนุก เพราะได้เห็นได้เรียนรู้วัฒนธรรมแปลกใหม่ในชีวิต ได้ฝึกพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น แม้จะพูดไม่ค่อยได้มากนัก แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ ขอเพียงแค่กล้าพูดก็ทำได้ คนอินโดนีเซียหน้าดุ แต่เมื่อได้คุยทำให้รู้ว่าใจดีเหมือนคนไทย ส่วนเรื่องเรียนก็ดีไม่ต่างจากที่วิทยาลัย เพราะเน้นการฝึกปฏิบัติเหมือนกัน อ๊อฟอยากให้มีโครงการดีอย่างนี้ ต่อไป เพื่อรุ่นน้องจะได้มีโอกาสมาเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ จากนี้อ๊อฟคงต้องฝึกพูดภาษาอังกฤษให้มากขึ้น เพราะการจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านได้อย่างมีความสุข ต้องรู้เขารู้เรา ซึ่งภาษาอังกฤษจะเป็นเครื่องมือสำคัญใน การสื่อสารระหว่างกัน ไกรวิชญ์ กล่าว เน้นย้ำ จากสีหน้าและแววตาของ ดร.ชัยพฤกษ์ และ ผอ.จรัล เมื่อได้เห็นผลลัพธ์ของเด็กที่เข้าร่วมโครงการ บ่งบอกได้อย่างชัดเจนถึงความรู้สึกพึงพอใจ และยิ่งเพิ่มความมั่นใจว่าการดำเนินโครงการนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพบุคลากรสายอาชีพของไทย เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่นักศึกษาที่จะเป็นผลผลิตของอาชีวะในอนาคตได้อย่างแน่นอน เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วเด็กอาชีวะไทยจะต้องพร้อมและสามารถแข่งขันกับเด็กอาชีวะของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ จากการพูดคุยกับเด็กพบว่าสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเด็กมีความกล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้นมาก ส่วนการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและการฝึกปฏิบัติก็ได้รับอย่างเต็มที่เช่นกัน ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวอย่างพึงพอใจ การเดินทางมาครั้งนี้ นอกจากตรวจเยี่ยมนักศึกษาแล้ว ผอ.จรัล ยังได้หารือร่วมกับคณะผู้บริหารโรงเรียน SMKN 1, 9, และ 10 Malang เกี่ยวกับโครงการจัดการเรียนการสอน 2 ภาษา 2 ประเทศ 2 ใบประกาศ 2 ใบปริญญา เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ให้เด็กไทยในอนาคตด้วย โดยได้ข้อสรุปว่า วท.พระนครศรีอยุธยา จะส่งนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 2 (ปวช. 2) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 16 คน ไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาปวช. 2 ของอินโดนีเซีย 16 คน ในสาขาคอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 1 ปี โดยภาคเรียนที่ 1จะเรียนทฤษฎีวิชาการ และภาคเรียนที่ 2 จะเป็นการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ ซึ่งจะเริ่มเรียนพร้อมกันในวันที่ 15 ต.ค. 2557 เมื่อเรียนจบจะได้รับประกาศนียบัตร 2 ใบ และที่สำคัญเด็กไทยจะได้รับใบรับรองผ่านการฝึกงานจากกลุ่มบริษัทชั้นนำของอินโดนีเซีย และประกาศนียบัตร ผ่านการอบรมภาษาอินโดนีเซีย (บาฮาซาอินโดนีเซีย) จากสถาบันสอนภาษาอินโดนีเซียเพื่อชาวต่างชาติอีกด้วย ทางวิทยาลัยยังได้หารือกับผู้บริหารมหา วิทยาลัยแอดลาสนุสันตาราเกี่ยวกับการที่สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 จะส่งนักศึกษา ไปแลกเปลี่ยนในระดับประกาศนีย บัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2 ปี หรือต่อเนื่องถึงปริญญาตรี 4 ปี ใน 5 สาขา คือ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า เทคนิคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ และการท่องเที่ยวและการโรงแรม ซึ่ง ได้ข้อสรุปว่านักศึกษาไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เอง โดยจะเริ่มภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2558 ซึ่งทางคณะผู้บริหาร ครู และตัวแทนผู้ปกครองของอินโดนีเซียจะมาเยี่ยมชมวิทยาลัยในสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 ในระหว่างวันที่ 20 -24 สิงหาคมนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และความเข้าใจที่ตรงกันทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ผอ.จรัล ให้รายละเอียดของความสำเร็จที่หอบกลับมา จากนี้ไปก็จะเป็นขั้นตอนของการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของทั้งสองชาติ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เชื่อว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต และการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนด้วยความเข้มแข็งร่วมกัน.
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2557 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
05 ส.ค. 57
อ่าน 1380 ครั้ง คำค้นหา :
|
|