สกศ.ย้ายบ้าน กลับสำนักนายกฯ




"พินิติ" เผย อนาคต สกศ.ขึ้นตรงสำนักนายกฯ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการศึกษา พร้อมการผลิตกำลังคนของประเทศ เล็งเพิ่มบทบาทใหม่กำหนดงบประมาณสำหรับพัฒนาการศึกษาชาติ

.....

วันนี้(12 ก.พ.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวบทบาทของสภาการศึกษาในยุคปฎิรูปการศึกษา ว่า ในช่วงปลายปี 2557 สกศ.ได้รับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปฎิรูปการศึกษา ซึ่งได้มีการตั้งคณะอำนวยการปฎิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการขึ้น พร้อมกับปรับบทบาทของ สกศ.ในยุคปฎิรูปการศึกษาอีกครั้ง จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์แห่งชาติ พร้อมกับเพิ่มบทบาทใหม่ให้เป็นองค์กรที่กำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาและ ทรัพยากรมนุษย์ระดับชาติ เป็นคลังข้อมูลทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ทั้งฐานข้อมูลสถิติ งานวิจัย รวมถึงการจัดทำแผนการผลิตกำลังคน พร้อมทำหน้าที่วิเคราะห์และจัดทำงบประมาณตามแผนพัฒนาการศึกษาและทรัพยากร มนุษย์ของประเทศด้วย โดยองค์กรใหม่นี้จะขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี มีการทำงานขับเคลื่อนโดยคณะบุคคลที่ชื่อว่า คณะกรรมการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์แห่งชาติ ประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน ที่มีวิสัยทัศน์ มีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ปลอดจากการแทรกแซงของปัจจัยภายนอก โดยขณะนี้ สกศ.อยู่ระหว่างดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเตรียมโอนกลับไปสู่สำนักนายกรัฐมนตรี

เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงสร้าง สกศ.ใหม่จะไม่ทำเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่จะไปทำเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศด้วย ซึ่งจะดูนโยบายภาพรวมของประเทศว่า ประเทศต้องการพัฒนาไปในทิศทางไหน จากนั้นเราจะผลิตคนให้ตรงตามคุณลักษณะนั้น อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะจากสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า การทำเรื่องแผนพัฒนาการศึกษาชาติที่ผ่านมามักจะมีคนทำบ้างไม่ทำบ้างและไม่ ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นจึงอยากให้ สกศ.เพิ่มบทบาทในกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณด้านการศึกษาด้วย โดยจะทำหน้าที่คล้ายกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่สามารถกำหนดวงเงินงบประมาณ และนำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาได้ เช่น ทิศทางการศึกษาที่จะต้องตอบโจทย์การพัฒนาประเทศนั้น ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ สกศ.ก็จะทำหน้าที่กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณ และเสนอให้ ครม.พิจารณา เป็นต้น

“การนำกลไกทางการเงินมากำหนดการพัฒนาการศึกษาชาตินั้น จะเป็นเรื่องที่ดีและได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง หากโรงเรียนไหนไม่อยากพัฒนาก็ไม่ต้องได้เงิน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สถานศึกษาตื่นตัวที่จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้ได้รับงบประมาณอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ในอนาคต สกศ.จะเขียนกฎหมายกำกับเรื่องคุณภาพการศึกษาเอาไว้ด้วย”รศ.ดร.พินิติกล่าว


ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 12 กุมภาพันธ์ 2558


โพสเมื่อ : 13 ก.พ. 58   อ่าน 1382 ครั้ง      คำค้นหา :