เดินหน้าโครงการอ่านสร้างสุข
เดินหน้าโครงการอ่านสร้างสุข
นางสาวแสงมณี มีน้อย ผู้อำนวยการส่วนวิชาการและมาตรฐานการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ) กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมจัดทำโครงการอ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษา ปี 2555 - 2556 อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2557 โครงการฯ ได้ยกระดับสู่การค้นหาต้นแบบชุมชนอ่านสร้างสุข ปีการศึกษา 2557 ภายใต้แนวคิด อ่านสร้างสุข เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตในโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครอง บุคคลในชุมชน และหน่วยงานทางการศึกษาอื่นๆ สามารถศึกษาหาความรู้ ได้ด้วยตนเอง โดยมียุวทูตการอ่านเป็นผู้ทำหน้าที่นำความรู้ไปบริการในชุมชนต่างๆ ด้วยการจัดทำห้องสมุดเคลื่อนที่ในชุมชน ทำให้นักเรียนได้พัฒนาองค์ความรู้ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จากเดิมผลการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่า ความสามารถของผู้เรียนในด้านการแสวงหาความรู้อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง และจากการสำรวจสภาพปัญหาการอ่านของครู นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนพบว่า นักเรียนขาดทักษะในการอ่าน ขาดการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ไม่ชอบอ่านหนังสือ ใช้เวลาว่าในการดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์ ไม่ให้ความสำคัญในการอ่านหนังสือหรือเข้าห้องสมุด ครูไม่มีแนวทางในการส่งเสริมการอ่านแก่นักเรียนอย่างชัดเจน ขาดการใช้แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย จนกระทั่งโรงเรียนได้เข้าร่วม โครงการอ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษา ปี 2555 - 2556 เพื่อส่งเสริมการอ่านให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น โดยใช้ ยุทธศาสตร์ 3 ร. ได้แก่ 1) ร่วมแรงรวมใจ พิชิตใจการอ่าน 2) ร่วมอ่านสร้างสุขในโรงเรียนและชุมชน 3) ร่วมสานฝันแบ่งปันการอ่าน แม้การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่านจะไม่สำเร็จในเร็ววัน แต่ผลจากการเข้าร่วมโครงการอ่านสร้างสุขในโรงเรียน/สถานศึกษา ปี 2555-2556 ที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนสนใจการอ่านมากขึ้น ทำให้ความสามารถด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยของนักเรียนดีขึ้น จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกหรืออ่านไม่คล่องลดลง มากไปกว่านั้น ผลสำเร็จดีเด่นที่เป็นผลจากการเข้าร่วมโครงการฯ คือ มีนักเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศการพูดสุนทรพจน์ภาษาไทย และภาษาจีนจากการแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ บุคลากรในโรงเรียนตระหนักและเห็นความสำคัญของการอ่านมีนิสัยรักการอ่าน ตลอดจนนำการอ่านไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนี้ ชุมชนยังได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เช่น ผู้สูงอายุในชุมชนมีความสุขและได้รับความรู้จากกิจกรรมอ่านหนังสือให้ผู้สูงอายุฟัง คนในครอบครัวมีความอบอุ่นมากขึ้นจากกิจกรรมนำหนังสือกลับไปอ่านที่บ้าน และโรงเรียนยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดซึ่งได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต้นสังกัดที่เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของการอ่าน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ |
โพสเมื่อ :
07 ส.ค. 57
อ่าน 1504 ครั้ง คำค้นหา :
|
|