การศึกษาไทยโคม่าจริงหรือ?



สั่นสะเทือนวงการศึกษาไทยอีกครั้ง เมื่อ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum-WEF ) ได้รายงานผล โกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ท 2014-2015

สั่นสะเทือนวงการศึกษาไทยอีกครั้ง เมื่อ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม  (World Economic Forum-WEF ) ได้รายงานผล โกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ท 2014-2015  (Global Competitive Report 2014-2015) โดยสรุปว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อยู่อันดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ตามหลังประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 2 ของโลก และมาเลเซีย อันดับ 20 แต่ที่นักการศึกษาไทยเต้นผาง คือ ผลการรายงานระบุว่า ในระดับโลกคุณภาพระบบการศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 87 ซึ่งมีอันดับถดถอยลง 9 อันดับ และคุณภาพประถมศึกษาถดถอยลง 4 อันดับ จากปี 2556 สวนทางอัตราการเข้าเรียนทุกระดับ ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาที่ดีขึ้น เมื่อแยกเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วมการประเมินในปีนี้  9 ประเทศ ยกเว้นบรูไน ยิ่งน่าตกใจ เพราะทั้งคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานไทย และคุณภาพระบบอุดมศึกษา อยู่ในอันดับ 6 ตามหลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อยู่ในอันดับ 5 

ทันทีที่รายงานผลดังกล่าวเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน บรรดานักวิชาการต่างออกมาให้ความเห็น โดยมีทั้งกลุ่มที่หวั่นวิตก และหาช่องแก้ไขปัญหา เพราะข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า “ไทยมีเด็กเข้าเรียนในทุกระดับการศึกษามากขึ้น แต่คุณภาพกลับแย่ลง” ขณะ เดียวกันก็มีนักวิชาการอีกกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า รายงานผลดังกล่าวมีความเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ใช้ไม้บรรทัดใดมาวัดคุณภาพการศึกษา ผู้วัดและประเมินได้มาเก็บข้อมูล และดูสภาพการจัดการศึกษาของทุกประเทศอย่างแท้จริงหรือไม่ หลากหลายความเห็นล้วนเป็นข้อมูลที่น่าคิด

นับถอยหลังอีกไม่ถึงปี ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษาของไทย ก็ต่างมั่นใจในศักยภาพการจัดการศึกษาของตนเอง และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้ไทยเป็นศูนย์ กลางการศึกษาระดับอุดมศึกษา และศูนย์กลางการอาชีวศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะเดียวกันการศึกษาขั้นพื้นฐานก็คาดการณ์ไว้ว่า จะมีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามาเรียนมากขึ้น ดังนั้นหากการศึกษาไทยต้องการไปสู่เป้าหมายที่วาดฝัน คงต้องกลับมาคิดให้ถ่องแท้ว่าประเทศไทยมีจุดใดที่ยังเป็นจุดอ่อน และมีจุดใดที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาของไทยให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกในแบบฉบับไทย ๆ แทนที่จะวิ่งไล่ตามกระแสโลกอย่างไร้สติเหมือนเช่นทุกวันนี้

เป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะมากำหนดมาตรฐานการศึกษาของไทย โดยจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น หลายประเทศที่ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม ก็จะใช้หลักศาสนาอิสลามมาจัดการศึกษา ซึ่งก็สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน และเข้มแข็งมานานนับพันปีจนถึงปัจจุบัน รวมถึงราชอาณาจักรภูฏาน ที่ประกาศนโยบายการบริหารประเทศว่า จะไม่สนใจผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(Gross Domestic Product) หรือ GDP แต่จะสนใจความสุขรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Happiness) หรือ GDH และแนวทางการจัดการศึกษาของภูฏานก็จะอิงกับนโยบายของประเทศ โดยยึดความสุขของประชาชนเป็นหลักเช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้ใคร ๆ ก็อยากไปเยือนภูฏาน

ดังนั้น ไทยน่าจะมาขบคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะมีระบบการศึกษา มีการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในแบบฉบับไทย ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น นำหลักปรัชญาทางพุทธศาสนา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแกนในการวางระบบการศึกษา 

เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามข้อมูลของ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ก็ถือเป็นกระจกหนึ่งบานที่สะท้อนมุมมองของคนภายนอก แม้จะไม่รอบด้าน  360 องศา แต่ก็เป็นเสียงทักให้ผู้บริหารประเทศ และขุนพลด้านการศึกษา ต้องมาย้อนดูตัวเองว่าจะพัฒนา หรือเดินหน้าประเทศไปในทิศทางใด.

 

 

โดย เข็มทิศ

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 11 กันยายน 2557


โพสเมื่อ : 12 ก.ย. 57   อ่าน 1619 ครั้ง      คำค้นหา :