เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน [email protected]
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
และนวัตกรรมมาใช้ปฏิรูปประเทศให้มากขึ้น มันมีความสำคัญ
เพราะไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง
โลกทั้งโลกยังเปลี่ยนแปลงด้วย
มุมมองของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับปาฐกถาในงานฉลองครบรอบ 10
ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา)
จึงมิอาจมองข้ามไปได้กับสำหรับสถาบันอุดมศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ
ประเทศไทยอาจจะเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับโลก
หลายคนคงคิดว่ามันคงไม่เกี่ยวกับประเทศเล็กๆ อย่างไทย
แต่กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศจะไม่ปล่อยให้เราอยู่เฉยๆ มันจะมีผลกระทบ ต่อการค้า
ต่อชีวิตของคนในประเทศแน่นอน
ไม่ว่าการเกิดวิกฤตทางการเงินในสหรัฐอเมริกา หรือในสหภาพยุโรป
ส่งผลต่อการส่งออก การเปลี่ยนแปลงทาง ภูมิอากาศ อุณหภูมิรวมของโลกสูงขึ้น
ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย คือ การเกิดโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ขึ้น
คงต้องคุยต้องสนใจเรื่องเหล่านี้ เพราะประเทศไทยจะเดินแบบเดิมๆ
ไม่ได้อีกแล้ว ปัจจัยต่างๆ ที่มีความอ่อนแอ มีความล้าหลัง
ต้องรีบปรับตัวให้เร็ว
โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต้องถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพยายาม
ทำให้มีขีดความสามารถที่จะไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและภาคสังคมให้ได้
ยกตัวอย่างใกล้ตัวปัญหาขยะใน จ.เชียงใหม่ หรือสถานที่ท่องเที่ยวเมืองใหญ่
อุดมศึกษาควรเข้าไปสนับสนุนเรื่อง สิ่งแวดล้อม
มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทางจังหวัดภาคเหนือมากๆ ขยะจะทวีคูณขึ้น จะทำอย่างไร
แม้แต่การได้รับทุนทำวิจัยสักกี่เรื่องก็ตาม หากวัดผลไม่ได้
วิจัยก็ไม่เกิดประโยชน์ แม้กระทั่งผลงานทางวิชาการได้ตีพิมพ์ระดับชาติ
ระดับนานาชาติเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ
คงต้องให้รางวัลอาจารย์กับชิ้นงานที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม
ต่อสังคมและชุมชนด้วย
หากงานวิจัยอุดมศึกษาไม่มีจุดเด่นเฉพาะตัวของตัวเอง รมว.กระทรวงวิทย์
ถามว่าจะเอาคำตอบผลสำเร็จของการวิจัย จากที่ไหน
เพราะหลายสถาบันต่างแข่งกันทำในเรื่องเดียวกัน และปาฐกถาครบรอบ 10 ปี
มทร.ล้านนาครั้งนี้ ยังพูดถึงแนวทางการพัฒนาเด็กประถมฯ อย่างน่าสนใจ
อยากให้รมว.ศธ. และ คณะได้อ่านจริงๆ
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558 หน้า 23