ยอดเด็กเรียนอาชีพควบสามัญเพิ่ม สพฐ.อัดงบรายหัว-ค่าเครื่องมือประจำตัวเฉพาะสาขา



นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อนุมัติให้สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) สพฐ. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการศึกษาที่เน้นสมรรถนะทางสาขาวิชาชีพตามแนวทางทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับโรงเรียนที่จัดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทวิศึกษา จำนวน 308 โรง และอนุมัติจัดสรรงบประมาณค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์ ค่าวัสดุฝึก และค่าสนับสนุนพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในสาขาอาชีพ ให้กับโรงเรียนจำนวน 116 โรง ซึ่งเป็นกลุ่มเก่าที่เคยลงนามความร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปก่อนหน้านี้นั้น ล่าสุดสมป.ได้รายงานให้ทราบว่า โรงเรียนที่จัดหลักสูตรปวช.ทวิศึกษา ได้รายงานจำนวนนักเรียนตามสาขาวิชา ชีพกลับมาแล้ว แบ่งเป็นโรงเรียนกลุ่มเก่า 116 โรง มีนักเรียน 8,024 คน และโรงเรียนกลุ่มใหม่ 192 โรง มีนักเรียน 9,937 คน รวม 308 โรง จำนวน 17,961 คน โดยมี 5 สาขาวิชายอดนิยม จาก 20 สาขาวิชาที่เปิดสอน ประกอบด้วย 1.คอมพิวเตอร์ธุรกิจ 139 โรง 2.การบัญชี 102 โรง 3.ช่างยนต์ 102 โรง 4.ช่างไฟฟ้ากำลัง 99 โรง และ 5.ช่างเชื่อมโลหะ 58 โรง ส่วนสาขาวิชาที่เปิดสอนน้อยที่สุดคือประมง 2 โรง



"ในปีการศึกษานี้สพฐ.มีโรงเรียนที่ลงนามความร่วมมือ กับสถานศึกษาของสอศ. เพื่อจัดการเรียนการสอนสายอาชีพให้กับนักเรียนมัธยมปลายทั้งสิ้น 308 โรง ในจำนวน นี้เป็นกลุ่มโรงเรียนใหม่ 192 โรง ที่แจ้งความจำนงจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในหลักสูตรนี้ 9,937 คน ดังนั้น สพฐ.จึงจัดสรรงบประมาณประจำปี 2558 ค่าวัสดุและค่าเครื่องมือประจำตัวผู้เรียนเฉพาะอาชีพ ให้กับนักเรียน สายอาชีพ จากแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผลผลิตผู้จบการศึกษามัธยม ศึกษาตอนปลาย กิจกรรมการส่งเสริมศักยภาพระดับมัธยมศึกษา เพื่อจัดสรรไปยังโรงเรียน 192 โรงละ 50,000 บาท และจัดสรรเป็นงบฯ รายหัวค่าเครื่องมือประจำตัวผู้เรียนฯ 1,000 บาทต่อคน รวมทั้งสิ้น 19,537,000 บาท" เลขาธิการกพฐ. กล่าว

โพสเมื่อ : 17 ส.ค. 58   อ่าน 1419 ครั้ง      คำค้นหา :