ราชภัฏเบรกเพิ่มอำนาจ กกอ.คุมเปิดหลักสูตรพร่ำเพรื่อ ชี้ กม.มีพอ โปรดมั่นใจสภามหาลัย



 ทปอ.มรภ.แนะศึกษากฎหมายที่มีอยู่ก่อน เพิ่มอำนาจให้กกอ. เข้าดูแลการเปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ชี้หลักสูตรที่เปิดสอนไม่ควรมองที่ประมาณให้เน้นความต้องการของสังคม

ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) กล่าวถึงกรณีที่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ สร้างกลไกให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เข้าไปดูแลการเปิดหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากปัจจุบัน มีการเปิดมหาวิทยาลัยใหม่ เปิดหลักสูตรใหม่อย่างไม่มีขีดจำกัดและไม่สามารถที่จะหยุดยั้งได้ ทำให้การเปิดหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาจึงอยู่ในภาวะที่เฟ้อ ว่าก่อนจะมีการเพิ่มอำนาจให้กกอ.เข้าไปดูแลการเปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ขอให้ไปศึกษากฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ว่าเพียงพอในการกำกับดูแลหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่ากฎหมายที่มีอยู่เพียงพอแล้ว เพราะในการบริหารมหาวิทยาลัยขณะนี้ มีพ.ร.บ.หลาย ๆ ฉบับกำกับดูแลมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในการขอเปิดหลักสูตรได้นั้น มหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงคิด 1-2 วัน และเสนอสภามหาวิทยาลัยอนุมัติแล้วเปิดได้ทันที แต่ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ ผ่านกระบวนการตามกติกา เกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด ต้องผ่านการพิจารณาจากกรรมการประจำคณะ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ผ่านสภาวิชาการ ผ่านสภามหาวิทยาลัย และต้องมาผ่านการรับรองรับทราบจากสกอ. และทุกเรื่องที่มหาวิทยาลัยดำเนินการต้องส่งให้สกอ.ดูแลอยู่แล้ว ดังนั้น ก่อนจะออกกฎหมายอะไร ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก อย่างคำนึงเพียงใครมีอำนาจมากหรืออำนาจน้อย

“นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นหลักจุดยืนให้แก่สังคมได้ การกำกับดูแล หรือการอนุมัติอะไรก็ตามของสภามหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ผมเชื่อว่าสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ และเพื่อประโยชน์ของสังคม จึงอยากให้มั่นใจในการทำหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยในการกำกับดูแลสถาบันอุดม ศึกษาด้วย ส่วนปัญหาเรื่องหลักสูตรนั้นเท่าที่ดูเกิดจากการไม่ปฎิบัติตามเกณฑ์ กติกาต่างๆ ที่สกอ.กำหนด สกอ.จึงต้องไปหากระบวนการวิธีการแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ หรือเพิ่มอำนาจให้เสียเวลา”ผศ.นิวัติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สังคมอุดมศึกษาต้องเป็นสังคมคิดต่าง ไม่ใช่สังคมคิดเหมือน หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนในปัจจุบัน ไม่อยากให้ดูว่ามากหรือน้อย แต่อยากให้ดูว่าหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นไปตามความต้องการของสังคม ประเทศหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วมีหลักสูตรมากน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ตอนใช้หลักสูตรผู้บริหาร สภามหาวิทยาลัยต้องไปกำกับดูแลให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

 

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 ตุลาคม 2557


โพสเมื่อ : 20 ต.ค. 57   อ่าน 1363 ครั้ง      คำค้นหา :