สภาการศึกษาเร่งจัดทำมาตรฐานการประเมินผลสมรรถนะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่
การศึกษาในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นไปที่ การศึกษาที่พัฒนาการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งไม่เจาะจงไปที่คนในวัยเรียนอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงคนในวัยทำงานด้วย ที่สำคัญมากต่อภาคการผลิต การลงทุน และ การพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันหลายประเทศประสบปัญหาคนตกงาน ขาดทักษะ ไม่มีศักยภาพในการทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะประเทศไทย พบว่าปัญหาของ วัยรุ่นและนักศึกษาในช่วงอายุ 15- 21 ปี คือ ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับขาดทักษะที่จำเป็น การคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาและการคิด เชื่อมโยง การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพ และช่วงวัยแรงงานในช่วงอายุ 15 - 59 ปี พบว่าจำนวนแรงงานและคุณภาพของแรงงานยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศขาดทักษะความสามารถที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้เล็งเห็นความสำคัญในปัญหาข้างต้น จึงได้เร่งจัดทำการประเมินทางการศึกษาระดับนานาชาติด้านสมรรถนะผู้ใหญ่ โดยได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผล ทางการศึกษาเทียบเคียงกับมาตรฐานสากลในบริบทของไทย ซึ่งได้มีการดำเนินการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเตรียมพร้อมที่จะดำเนินโครงการโดยจะทำการสำรวจใน 4 มิติ คือ
มิติการรู้หนังสือ (Literacy)
มิติทักษะองค์ประกอบการอ่าน (Reading Component Skills)
มิติความรู้พื้นฐานทางการคำนวณ (Numeracy)
มิติการแก้ปัญหาภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยี (Problem Solving in Technology-rich environments)
ทักษะเหล่านี้จะเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และจะส่งผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับเวทีอาเซียนและระดับนานาชาติของประเทศไทย ต่อไป
สำหรับกลุ่มตัวอย่าง จะครอบคลุมกลุ่มอาชีพ ที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ ทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านบริการ และการท่องเที่ยว โดยยึดตามกรอบการกำหนดกลุ่มอาชีพตามมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) และกรอบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
นอกจากนี้การพัฒนาเครื่องมือได้กำหนดลำดับความสำคัญของมิติที่ใช้ในการประเมินสมรรถนะผู้ใหญ่ โดยมุ่งเน้นด้านกระบวนการคิดและทักษะที่ใช้ใน การทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเศรษฐกิจและสังคม ในศตวรรษที่ 21 เช่น มิติเทคโนโลยี เพราะจะได้นำผลการประเมินสมรรถนะที่ได้ไปพัฒนาสมรรถนะ คนไทยต่อไป
ผลการประเมินทักษะและสมรรถนะของ ผู้ใหญ่นี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสะท้อน ขีดความสามารถ สมรรถนะเฉพาะตัวบุคคล และ ภาพนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาคนในวัยทำงานของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบการศึกษาและการพัฒนา กำลังคน เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในศตวรรษที่ 21 ต่อไปในอนาคต
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
|
โพสเมื่อ : 17 ม.ค. 57 อ่าน 1374 ครั้ง คำค้นหา : |