อธิการฯ แนะนำ 7 สาขาวิชา น่าเรียน จบแล้วเป็นที่ต้องการหลังเปิดเออีซี



อธิการฯมข.แนะปั๊ม′แพทย์-ทันตะ-พยาบาล-วิศวะ-สถาปัตย์-สำรวจ-บัญชี′เหตุบูมรับเออีซี

นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เปิดเผยถึงความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงานเมื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอา เซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 ว่า บัณฑิตที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานน่าจะเป็น วิศวกร เพราะหลายประเทศในอาเซียนอยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา รองลงมาสายสุขภาพซึ่งประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน และล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นพอสมควร แต่ยังมีจุดอ่อนด้านภาษาที่น่าเป็นห่วง สำหรับกลุ่มอาชีพที่ตลาดแรงงานน่าจะต้องการลดลงนั้น น่าจะเป็นด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และบริหารธุรกิจ ที่ขณะนี้มีบัณฑิตค่อนข้างล้นตลาดอยู่แล้ว

นายบัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกันด้านคุณสมบัติในสาขา วิชาชีพหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพได้อย่างเสรีในประเทศกลุ่มอา เซียนทั้ง 10 ประเทศ ใน 7 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การสำรวจ และ บัญชี ดังนั้นคิดว่าบัณฑิต 7 สาขาวิชานี้ ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานแน่นอน ซึ่งคณะครุศาสตร์ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ได้ปรับระบบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพมากขึ้น อาทิ การรณรงค์ให้อาจารย์สอนเป็นภาษาอังกฤษ การส่งนิสิตไปฝึกสอนระดับปฐมวัยและประถมศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ จำนวน 3 แห่ง เพื่อเตรียมพร้อมบัณฑิตรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตามคณะครุศาสตร์ ยังมีข้อจำกัดเรื่องการฝึกงาน ที่ฝึกเฉพาะในสถาบันการศึกษาในประเทศที่คุรุสภากำหนดเป็นเงื่อนไขให้ใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่หากเชื่อมโยงการฝึกสอนในสถาบันการศึกษาในต่างประเทศด้วย ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางออกในการพัฒนาเด็กได้

นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยควรผลิตบัณฑิตใน 7 วิชาชีพดังกล่าวแล้ว ยังควรผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ได้แก่ Education Hub, Medical Hub, Transportation and Logistics Hub, Food Hub และ Sports and Tourism Hub นอกจากนี้ การประกันชีวิตกำลังอยู่ในความสนใจ คาดว่าความต้องการบัณฑิตที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้ ก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ส่วนบัณฑิตที่อาจมีการจ้างงานน้อยลง น่าจะเป็นสายสังคมศาสตร์ สังเกตได้จากความต้องการภายในประเทศที่ค่อนข้างลดลง 

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ มติชนออนไลน์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558


โพสเมื่อ : 27 พ.ย. 58   อ่าน 1507 ครั้ง      คำค้นหา :