แก้พ.ร.บ.จัดซื้อฯเอาผิดผู้สั่งการ ชงเข้าครม.มีนาฯนี้ไฟเขียวเพิ่มโทษ



กรมบัญชีกลางเล็งชง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างเข้า ครม. มีนาคมนี้ไฟเขียวเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดคล้าย กม.อาญา มาตรา 157 ผู้สั่งการทั้งนักการเมือง หัวหน้าหน่วยงานโดนโทษเพิ่มเป็น 2 เท่า ตามคำบัญชาของนายกฯ บังคับใช้ทั้งหน่วยงานรัฐส่วนกลาง-ท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ เพื่อความโปร่งใส คุ้มค่าเงิน

.....

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ได้ร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชน สมาคมภาคเอกชนต่างๆ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ....เพื่อให้เอกชนทราบถึงเนื้อหา รายละเอียดข้อมูลของร่างดังกล่าว รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนมาปรับปรุงร่างให้เหมาะสมต่อไป โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือและรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 3 ครั้ง จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะสรุป รายละเอียดนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือนมีนาคมนี้

นายมนัสกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ล่าสุดได้มีการเพิ่มโทษของผู้กระทำผิด คล้ายๆ กับกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือถ้ากระทำผิด ทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง มีโทษปรับ 2,000-200,000 บาท และมีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้สั่งการจะมีโทษเพิ่มเป็น 2 เท่า เพื่อให้สามารถเอาผิดกับผู้สั่งการได้ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาระดับหน่วยงานไป จนถึงนักการเมืองที่สั่งการให้กระทำผิด

"การเพิ่มโทษดังกล่าวเป็นไปตามที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต้องการให้เพิ่มโทษลงไปในร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างโดยตรง และให้เอาผิดไปยังผู้สั่งการด้วย จากเดิมจะใช้โทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 157" นายมนัสกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอนในการพิจารณา คือต้องผ่าน ครม. คณะกรรมการกฤษฎีกา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงต้องติดตามว่าจะมีการปรับแก้อย่างไรหรือไม่

นายมนัสกล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ คาดว่าจะสามารถประกาศเป็นกฎหมายออกมาใช้ได้ในไม่ช้านี้ โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ จัดทำขึ้นเพื่อนำมาบังคับใช้กับหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรมหาชน และหน่วยงานอิสระของรัฐ ซึ่งทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน และยังเป็นหลักประกันในการปฏิบัติราชการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เกิดความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้ ขณะนี้การจัดซื้อจัดจ้างนั้นจะใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558


โพสเมื่อ : 03 ก.พ. 58   อ่าน 1443 ครั้ง      คำค้นหา :