ไม่จ่ายค่าเทอม



คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สมปอง แจ่มเกาะ

หลังจากรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ถือฤกษ์ดีวันที่ 9 เดือน 9 ด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จากนั้น 12 กันยายนก็จะแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาของการลงมือทำงานเพื่อสะสางปัญหาของบ้านเมือง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ค่าครองชีพปากท้อง พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ฯลฯ 

ได้เอาแต่ใจช่วยและภาวนาขอให้ประสบความสำเร็จ บ้านนี้เมืองนี้จะได้อยู่เย็นเป็นสุขกันเสียที

เย็นย่ำค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ระหว่างนั่งชมรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีโอกาสนั่งล้อมวงสนทนากับเพื่อนพ้องน้องพี่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย กลุ่มเล็ก ๆ 4-5 คน นอกจากถามไถ่ถึงสารทุกข์สุกดิบ ตามประสาคนสนิทชิดเชื้อคุ้นเคย คุยกันสารพัดเรื่อง เป็นการคุยอย่างออกรสออกชาติ สนุกสนาน ได้แง่คิดมุมมองอย่างมีสาระ 


แต่เรื่องที่ได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันมากในวันนั้นกลับเป็นหัวข้อ การสนทนาของคุณครูเอ (นามสมมุติ) จากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีประวัติมาอย่างยาวนาน และใคร ๆ ก็อยากจะให้ลูกหลานได้เข้าเรียนศึกษาหาความรู้

คุณครูเอบอกว่า "...ช่วงนี้งานที่โรงเรียนค่อนข้างยุ่ง เพราะต้องมีการประชุมอยู่บ่อย ๆ"

พร้อมขยายความต่อว่า "ตอนนี้ โรงเรียนได้ตั้งกรรมการให้เข้ามารับผิดชอบเรื่องการตามทวง (หนี้) ค่าเทอม"

ด้วยความสงสัย ทุกคนถามสวนขึ้นทันทีว่า ทำไมต้อง "ทวง (หนี้) ค่าเทอม" ?

ในความหมายคือ ในเมื่อผู้ปกครองเด็กนักเรียนโรงเรียนนี้ล้วนเป็นคนมีฐานะ นักธุรกิจ เป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม ค่าเทอมเพียง 4-5 หมื่นบาท ผู้ปกครองน่าจะมีเงินจ่ายและไม่น่าเป็นไปได้ที่จะค้างค่าเทอม 

"จริง ๆ" คุณครูเอตอบ และให้ข้อมูลว่า "เบ็ดเสร็จเป็นเงินรวมนับ 10 ล้าน (บาท) ตอนนี้ต้องหาทนายความมาให้คำปรึกษาด้วย"

ยิ่งอึ้งกันใหญ่ครับ

จากนั้นคุณครูก็สาธยายให้ฟังสั้น ๆ ว่า "...นี่ไม่ใช่เพิ่งเป็นปัญหา เรื่องนี้เกิดมาระยะหนึ่งแล้ว บางคนขับรถเบนซ์ป้ายแดงมาส่งมารับ แต่หลบ ๆ เลี่ยง ๆ ไม่ยอมจ่าย ที่ผ่านมาโรงเรียนใช้วิธีส่งจดหมายฝากนักเรียนไปให้พ่อแม่ เด็กบางคนก็แอบเปิดจดหมายอ่าน แล้วก็ไปบอกผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองกลับมาต่อว่าครูหรือโรงเรียนว่า ทำไมไปทวงค่าเทอมผ่านเด็ก กลายเป็นความผิดของครูและโรงเรียน"

"มีบางคนที่หัวหมอ ลูกจบ ม.6 ไปแล้ว โรงเรียนไม่ออกใบเกรดให้ เขาก็ไปขอคัดผลการเรียนจากกระทรวงฯ"

"โรงเรียนไม่ต้องการอะไรมาก เพียงแค่อยากจะเชิญผู้ปกครองมาคุย มาเจรจาเพื่อหาทางออก จะผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ก็ไม่ว่า เงินที่ได้มาโรงเรียนก็นำมาใช้เพื่อการเรียนการสอน ผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวงก็จะตกกับนักเรียนทุกคน"

ระหว่างฟัง ในใจก็คิดย้อนกลับไปสมัยเป็นเด็กนักเรียนมัธยมฯ ที่ต่างจังหวัด สมัยนั้นเงินทองหายาก ผู้ปกครองหลายคนอยากจะส่งลูกให้เรียนสูง ๆ แต่ไม่มีเงิน ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายเป็นค่าเทอม บางคนเงินไม่พอก็ต้องบากหน้าเข้าไปหาครูเพื่อขอผ่อนผันด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้เรียน นอกจากนี้ยังมีเพื่อนหลายคนที่ต้องดิ้นรนช่วยพ่อแม่อีกทาง ด้วยการทำงานรับจ้างในช่วงปิดเทอม บางคนต้องไปถึงชลบุรี บางคนเข้ามากรุงเทพฯ 

เพื่อหาเงินเป็นค่าเล่าเรียนต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ แต่นี่มีเงินมีทอง มีหน้ามีตาในสังคม มีโรงเรียนดี ๆ ให้ลูกเรียน กลับไม่ยอมจ่ายค่าเทอมเสียนี่

จนถึงวันนี้ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ และไม่เข้าใจว่า ทำมั้ย ทำไม ผู้ปกครองเหล่านี้เขาจึงเบี้ยว ไม่ยอมจ่ายค่าเทอมดังกล่าว และยังสงสัยต่อไปอีกว่า เมื่อเด็ก ๆ เหล่านี้เขาจบการศึกษาไป เขาจะรู้สึกภาคภูมิใจหรือไม่ หากรู้ว่าพ่อแม่ไม่จ่ายค่าเทอมให้โรงเรียน

นี่อาจจะเป็นเพียงโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เกิดปัญหาขึ้น โรงเรียนชื่อดังอื่น ๆ ก็ไม่ควรประมาท

 

 

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 11 ก.ย. 2557


โพสเมื่อ : 12 ก.ย. 57   อ่าน 1721 ครั้ง      คำค้นหา :