![]() |
เรียนภาษาไทย-อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ' กศน.แม่สะเรียง ' มีพจมาน มีชายกลาง หญิงเล็ก หญิงใหญ่ มีชายน้อยเดินไม่ค่อยได้ๆ ผู้หญิงใจร้ายก็คือ หม่อมแม่ๆ เสียงร้องเพลงของครูกับนักเรียนวัยอนุบาลประกอบกับท่าเต้นน่ารักๆ ของเด็กๆ เกือบ 20 ชีวิต ในห้องเรียนของศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนบนพื้นที่สูง(ศศช.)บ้านแม่ดึ๊ โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ติดชายแดนไทย-พม่า ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน และเดินทางโดยนั่งเรือล่องแม่น้ำสาละวินจากท่าเรือบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.ฮ่องสอน เข้าไปเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร โดยศศช.แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2551 อยู่ในสังกัดศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นายพงษ์ศักดิ์ บุญเป็ง ผอ.กศน.อ.แม่สะเรียง เล่าว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีชุมชนชาวไทยภูเขาซึ่งเป็นหย่อมบ้านกว่า 100 แห่งที่ กศน.เข้าไปจัดการศึกษาและศศช.บ้าน.แม่ดึ๊ ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดการศึกษาตามแนวกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร(กพด.)ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เน้นพัฒนาเด็ก 5 ด้านคือ โภชนาการ การศึกษา อาชีพ วัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งศศช.บ้านแม่ดึ๊เริ่มนำไฟฟ้าระบบพลังงานน้ำมาใช้เมื่อปี 2554 ภายใต้โครงการ ป่าต้นน้ำนำแสงสว่าง สร้างความรู้สู่ชุมชน กระทั่งได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของกศน.ในปี 2555 และ 2556 โดยได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บรรพบุรุษของชาวไทยภูเขาหมู่บ้านแม่ดึ๊เป็นชาวพม่าเชื้อสายกะเหรี่ยงปกากะญอและอพยพมาอยู่ไทยมานานกว่า 40 ปี แต่สมัยก่อนไม่ได้แจ้งเกิด ทำให้เป็นคนไทยที่ไร้สัญชาติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นห่วงเรื่องการศึกษา อยากให้คนเหล่านี้พูดภาษาไทยและมีความรักชาติไทย กศน.จึงร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 ทำโครงการอุดมการณ์รักชาติรักภาษาไทยขึ้นในชุมชนชาวไทยภูเขาใน จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนชุมชนบ้านแม่ดึ๊ก็วางแผนว่าจะหารือกับชุมชนสร้างบ้านพัก 5 หลังเพื่อทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีไกด์ซึ่งเป็นชาวบ้านนำเที่ยวชมป่าไม้ วิถีชีวิตในชุมชน เช่น การทอผ้ากะเหรี่ยง การเย็บใบพลวงหรือใบตองตึงซึ่งใช้มุงเป็นหลังคาบ้าน มีอาหารให้นักท่องเที่ยวได้กิน ช่วงกลางคืนมีการแสดงของเด็กๆ ในชุมชน ทำให้ศศช.และชุมชนมีรายได้ นอกจากนี้ ยังมีชุมชนบ้านชบาซึ่งอยู่ไกลจากที่นี่ ขอให้กศน.ไปตั้งศศช.เพราะระยะทางไกล เด็กในชุมชนไปโรงเรียนลำบาก ผมจะหารือทางจังหวัดและโครงการตามพระราชดำริว่าจะจัดตั้งศศช.ขึ้นได้หรือไม่ ผอ.พงษ์ศักดิ์ เผยถึงแผนงานอนาคต น.ส.สุรีย์ ยิ่งตระกูลไพร ครูประจำศศช.บ้านแม่ดึ๊ อธิบายเสริมว่า ชุมชนบ้านแม่ดึ๊มี 25 ครัวเรือน 100 คนก่อนหน้านี้ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนอยู่นอกแผนที่ประเทศไทย เพิ่งถูกสำรวจในปี 2548 โดยสภาทนายความร่วมกับเอ็นจีโอ ปัจจุบันศศช.บ้านแม่ดึ๊มีเด็กเล็กเรียนระดับอนุบาล 17 คนและมีครูศศช. 2 คน นอกจากนี้ ครูยังออกไปสอนภาษาไทยให้ชาวบ้านช่วงกลางคืนเพราะกลางวันชาวบ้านไปทำไร่ทำนา และเย็บใบตองตึงขาย ต่อมาปี 2554 ศศช.ได้นำระบบไฟฟ้าพลังน้ำมาใช้โดยดูต้นแบบจากวัดที่อยู่ห่างจากชุมชน 800 เมตรและได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เพราะต้องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและส่งเสริมให้เรียนรู้ภาษาไทย เนื่องจากชาวบ้านขึ้นไปถางป่าบนเขาเพื่อปลูกบ้านและทำไร่ทำนา ปี 2555 อ.แม่สะเรียง มาขึ้นทะเบียนคนไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้พ่อแม่และเด็กได้รับบัตรหมายเลขศูนย์ซึ่งไม่สามารถออกนอกจังหวัดได้ เด็กจบชั้นอนุบาลที่ศศช.บ้านแม่ดึ๊ จะไปเรียนต่อโรงเรียนประถมในเมืองแม้ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อก่อนเข้าไปสอนต้องจุดเทียนเรียน ปีนี้จะเข้าไปสอนเต็มที่จะให้ได้วันละ 4 บ้านเพราะเราเอาไฟฟ้าเข้าบ้านชาวบ้านหมดทุกครัวเรือนแล้วแลกกับการเรียนรู้ภาษาไทย ชาวบ้านตกลงเพราะอยากได้ไฟฟ้า มีข้อตกลงว่าจะเปิดไฟฟ้าตั้งแต่ 6 โมงครึ่งจนถึง 4 ทุ่มและให้ใช้แค่หลอดไฟฟ้า นอกจากสอนภาษาไทยแล้ว จะสอนอาชีพ เช่น การทำกับข้าวพื้นบ้าน การทอผ้ากะเหรี่ยง เพื่อเตรียมทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านบอกว่าปีนี้จะย้ายลงมาพื้นที่ข้างล่างทั้งหมด เพราะเราอธิบายมาตลอดว่าไฟฟ้าพลังน้ำมาจากป่าต้นน้ำ อนาคตพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลายไปเรื่อยๆ จะไม่มีระบบน้ำผลิตไฟฟ้า ลูกหลานไม่มีป่าให้เห็น ต่อไปจะนำไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าใช้ในเวลากลางวันด้วย ซึ่งได้ขอให้อาจารย์สาขาวิศวะจาก ม.แม่โจ้ มาช่วยดำเนินการ ครูสุรีย์ เล่า นายวีระชัย พายุหมุนวน ครูประจำศศช.บ้านแม่ดึ๊ ซึ่งเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานโครงการไฟฟ้าระบบพลังงานน้ำแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง 2 ปีซ้อน เล่าว่า พระองค์มีรับสั่งถามว่าโครงการดำเนินการอย่างไร มีการอนุรักษ์ป่าได้อย่างไร และไปสอนผู้ใหญ่เวลาไหน มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ทั้งนี้ ป่าต้นน้ำบนภูเขาที่ถูกชาวบ้านถางทำไร่ทำนานั้นพวกเราจะไปปลูกไม้ยืนต้นทดแทนเพื่อให้ป่ากลับมาสมบูรณ์เช่นเดิม ท้ายสุด นายแพะ อาชีพขับเรือ ชาวบ้านในชุมชนบ้านแม่ดึ๊ บอกว่า เมื่อกศน.เข้ามาชีวิตชาวบ้านดีขึ้นมาก มีน้ำและไฟฟ้าใช้ ทำให้เด็กๆ ได้รู้หนังสือ เมื่อก่อนไม่รู้อะไรเลย มีแต่ไปทำไร่ทำนา ตอนนี้ลูกไปเรียนหนังสือในโรงเรียนตัวเมือง และชาวบ้านได้เรียนรู้ภาษาไทย นำไปใช้สื่อสารได้ ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ : 02 เม.ย. 57 อ่าน 1485 ครั้ง คำค้นหา : |