นักวิจัย มช. ผลิตผ้าฝ้ายกันน้ำเพิ่มมูลค่าผ้าพื้นเมือง ด้วยสารละลายชันสนและสารส้ม นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มช. คิดค้น ผ้าฝ้ายกันน้ำ เพิ่มมูลค่าผ้าพื้นเมืองด้วยกรรมวิธีที่ไม่ซับซ้อน ด้วยการชุบเคลือบสารละลายชันสนและสารส้ม ซึ่งมีราคาถูก ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมได้สัมผัสและระบายความชื้นได้ดีเหมือนกับธรรมชาติของผ้าฝ้าย ดร.มาโนช นาคสาทา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดเผยถึงรายละเอียดงานวิจัยผ้าฝ้ายกันน้ำ ว่า หัตถกรรมเสื้อผ้าพื้นเมือง ถือว่าเป็นธุรกิจชุมชนที่ทำรายได้ให้แก่จังหวัดเชียงใหม่มาช้านาน ได้มีผู้ทำการศึกษาแนวโน้มของรูปแบบผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าวัตถุดิบในการทำผ้าฝ้ายมีราคาแพงขึ้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ขายได้ในราคาเท่าเดิม การพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าฝ้ายพื้นเมืองส่วนใหญ่มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการทอ ลวดลายผ้า การย้อมสี ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการเพิ่มมูลค่าผ้าฝ้ายพื้นเมือง แต่ในอีกมิติของการพัฒนาผ้าพื้นเมือง คือการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษ เช่น ผ้าทนไฟ ผ้าที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อรา แบคทีเรีย ป้องกันรังสี ยูวีเอ ยูวีบี รวมไปถึง ผ้ากันน้ำ การวิจัยเกี่ยวกับการทำผ้ากันน้ำหลายงาน เช่น การผลิตสิ่งทอสะท้อนน้ำซึ่งใช้หลักการนาโนเทคโนโลยีมาเลียนแบบผิววัสดุธรรมชาติที่สามารถสะท้อนน้ำอย่างใบบัว พบปัญหาที่สำคัญ คือ ต้องใช้เครื่องมือราคาแพงและค่อนข้างยุ่งยาก หรือวิธีการเพิ่มคุณสมบัติไม่ซึมน้ำให้ผ้า หลังจากอาบพลาสมาของแก๊สซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ซึ่งพลาสมานี้จะเกิดขึ้นในภาชนะสุญญากาศโดยใช้หลักการเหนี่ยวนำกำลังไฟฟ้าด้วยคลื่นความถี่วิทยุ โดยผ้าที่ใช้ศึกษาได้แก่ พอลิ-เอทธีลีนเทเรฟธาเลต (polyethylene terephthalate :PET) แต่ปัญหาที่ของ PTFE คือมีส่วนผสมของฟลูออรีน (F) ซึ่งเป็นสารที่ทำลายชั้นโอโซน และยังไม่มีการประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงได้พัฒนากรรมวิธีผลิตผ้าฝ้ายกันน้ำ โดยใช้กระบวนการเตรียมอย่างง่ายและใช้สารที่มีราคาถูก ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุตสาหกรรมผ้าพื้นเมืองสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้และนำไปสู่การผลิตผ้าพื้นเมืองที่มีคุณสมบัติพิเศษกันน้ำได้ สำหรับกรรมวิธีการผลิตผ้าฝ้ายกันน้ำมีขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ทำความสะอาดผ้าฝ้ายด้วยสารทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอกมาตรฐาน จากนั้นทำให้แห้งที่อุณหภูมิประมาณ 60-80 องศาเซลเซียส จากนั้นนำผ้าฝ้ายที่ผ่านการทำความสะอาดที่แห้งแล้ว แช่ในสารละลายชันสน (Rosin) ความเข้มข้น 1-3 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักต่อปริมาตร ที่มีอัตราส่วนน้ำหนักผ้าต่อปริมาตรสารละลายชันสน (M/L) คือ 1:20 เป็นเวลา 15 นาที แล้วนำผ้าฝ้ายที่ผ่านการแช่สารละลายชันสนแช่ในสารละลายสารส้ม (alum) ความเข้มข้น 1-3 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักต่อปริมาตร ที่มีอัตราส่วนน้ำหนักผ้าต่อปริมาตรสารละลายสารส้ม (M/L) เท่ากับ 1:20 เป็นเวลา 15 นาที และนำผ้าฝ้ายที่ผ่านการแช่สารละลายชันสน (Rosin) และสารส้ม เข้าเครื่องปั่นแห้งที่อัตราความเร็วรอบ 3000 รอบต่อนาที เป็นเวลา 3 นาที แล้วทำให้แห้งที่อุณหภูมิประมาณ 60-80 องศาเซลเซียส จะได้ผ้าฝ้ายที่มีคุณสมบัติพิเศษกันน้ำได้ ทั้งนี้ผ้าฝ้ายกันน้ำที่ได้จะเป็นผ้าฝ้ายที่ต้านทานการดูดซึมน้ำได้สูง และยังคงสมบัติทางกายภาพในการสัมผัสเหมือนกับธรรมชาติของผ้าฝ้าย ซึ่งผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถซักด้วยน้ำเปล่าได้กว่า 20 ครั้งโดยที่สมบัติการกันน้ำยังคงเหมือนเดิม จึงเหมาะที่จะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทนต่อการเปียกน้ำ เช่น ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋ากันน้ำ ผ้าม่าน เสื้อกันฝน ด้วยกระบวนการเตรียมที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้สารที่มีราคาถูกและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงน่าจะส่งผลให้ผ้าฝ้ายกันน้ำเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้อุตสาหกรรมผ้าฝ้ายได้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าฝ้าย ลดปัญหาการแข่งขันของผู้ประกอบการในปัจจุบันที่มุ่งเน้นทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และด้านราคาจำหน่าย ขณะนี้ ผ้าฝ้ายกันน้ำด้วยการชุบเคลือบ สารละลายชันสนและสารส้มนี้ ได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง |
โพสเมื่อ : 28 ก.พ. 57 อ่าน 1933 ครั้ง คำค้นหา : |