ผลิตบัณฑิตเกษตรแนวใหม่เสริมงานวิจัยสำนักวิชาทรัพยากรเกษตรเน้นเป็นเจ้าของกิจการ ศ.กิตติคุณ น.สพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยทรัพยากรการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และให้บริการวิชาการ โดยได้รับการปรับฐานะขึ้นเป็น สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ตามมติที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มุ่งผลิตบัณฑิตที่พร้อมเป็นเจ้าของกิจการสินค้าเกษตรขนาดย่อมครบวงจร เป็นผู้นำชุมชนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร บัณฑิตรุ่นแรกของสำนัก วิชาฯ จำนวน 45 คนจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเดือนกรกฎาคมนี้ ศ.กิตติคุณ น.สพ.ดร.อรรณพ กล่าวถึงการรับนิสิตเข้าศึกษาว่าแบ่งเป็น 2 วิธี คือ การรับตรง โดยมหาวิทยาลัยจะจัดทุนการศึกษา ทุนจุฬาพัฒนาเกษตรไทย จำนวนปีละ 24 ทุน ให้แก่นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนในพื้นที่ จ.น่าน แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย และสระบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ และรับจากการสอบคัดเลือกจำนวน 26 คน ในการจัดการเรียนการสอนจะเน้นแบบบูรณาการเพื่อให้นิสิตได้ทั้งความรู้จากคณาจารย์ และจากการฝึกปฏิบัติทดลองในพื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยและท้องถิ่น โดยนิสิตชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ภาคการศึกษาต้น จัดการเรียนการสอนที่จุฬาฯ ส่วนในชั้นปีที่ 2 ภาคปลาย และชั้นปีที่ 3 และ 4 จัดการเรียนการสอนหลักที่ จ.น่าน ด้วยการเรียนการสอนทางไกลผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนิสิตในชั้นเรียนได้ โดยมีคณาจารย์ประจำอยู่ที่ จ.น่าน สอนบรรยายบางส่วนและสอนการปฏิบัติภาคสนาม ซึ่งจะใช้เรือกสวนไร่นาวิสาหกิจชุมชน เป็นห้องปฏิบัติการ รวมทั้งห้องปฏิบัติการและแปลงเกษตรของสำนักวิชาฯ เองอีกด้วย นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฝึกอบรมสัมมนาด้านเสริมสร้างจิตวิญญาณและจิตอาสาให้กับนิสิตผ่านโครงการการพัฒนาชุมชนต่างๆ ตลอดจนโครงการบัณฑิตจิตอาสา สำหรับแผนงานในอนาคตนั้น ศ.กิตติคุณ น.สพ.ดร.อรรณพ กล่าวว่า ในด้านการจัดการศึกษา นอกจากการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีแล้ว สำนักวิชาฯ ยังมีแผนในการพัฒนาหลักสูตรสหศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษาด้าน เทคโนโลยีการเกษตร และ การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ร่วมกับคณะวิชาในจุฬาฯ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจะมีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการผลผลิตการเกษตร การจัดการการแปรรูปสินค้าเกษตรทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารหรือการจัดการสิ่งแวดล้อมในการเกษตร ด้านการวิจัย มีการส่งเสริมงานวิจัยของคณาจารย์ในลักษณะการตอบโจทย์ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาของท้องถิ่นและของประเทศ รวมถึงงานวิจัยพื้นฐานด้านบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร โดยมีแผนงานที่จะก่อตั้งศูนย์บริการวิชาการต่างๆ ในสำนักวิชาฯ เช่น ศูนย์ข้อมูลเพื่อการอ้างอิงสินค้าเกษตร ศูนย์ศึกษาวิจัยการเกษตรพอเพียง และศูนย์เรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ นอกจากนี้สำนักวิชาฯ มีแผนจัดตั้งเครือข่ายบัณฑิตออนไลน์ สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง ผู้รู้ อาจารย์ และศิษย์เก่าทุกรุ่นที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว เพื่อประสานและกระตุ้นให้ศิษย์เก่าได้องค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาและยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศิษย์เก่าและอาจารย์ นอกจากนี้จะให้มีศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีพื้นฐานสู่ชุมชนในรูปแบบของศูนย์บริการให้คำปรึกษาแก่วิสาหกิจชุมชนในด้านการจัดการทรัพยากรการเกษตร ในพื้นที่ จ.น่าน และ จ.สระบุรี ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง |
โพสเมื่อ : 18 มี.ค. 57 อ่าน 1490 ครั้ง คำค้นหา : |