อาชีวะอีสานเดินหน้าเรียนภาษาก้าวสู่อาเซียน




      

อาชีวะอีสานเดินหน้าเรียนภาษาก้าวสู่อาเซียน

          ว่าที่ พ.ต.วานิช สมชาติ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กล่าวว่า ความพยายามของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษา ในการเตรียมความพร้อม เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้มีความพร้อมกับการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี ในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆ ระดับโลก นำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน ได้แก่ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน และจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี สำหรับการตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้กำหนดให้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2558
          เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ จ.สกลนคร สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ประกอบไปด้วย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ได้จัดการสัมมนา โครงการพัฒนาการอาชีวศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน มีผู้เข้าร่วมสัมมนา จาก ไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อนำการศึกษาอาชีวศึกษาให้มีความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน พัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเชื่อมต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาระหว่าง ไทย ลาว เวียดนาม จึงมีการประชุมสัมมนาหารือ กับตัวแทนจากโรงเรียนอาชีวศึกษากวางตรี ประเทศเวียดนาม วิทยาลัยอุตสาหกรรมเว้ และวิทยาลัยเทคนิคแขวงคำม่วน สปป.ลาว จัดโครงการ พัฒนาการศึกษาอาชีวศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน โดยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน ในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน
          อย่างเช่น การปฏิรูประบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอาเซียนที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เป็นหัวใจกำลังหลักในการพัฒนาด้านต่างๆ ซึ่งในปี 2558 การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถือเป็นการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน การบริการ การลงทุน ให้มีเสรีมากยิ่งขึ้น มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแน่นอน และการลดช่องว่างระหว่างประเทศเก่าและสมาชิกใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความสามารถด้านทักษะ ฝีมือ ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เพื่อจัดการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และครู รวมทั้งการฝึกงานในสถานประกอบการไทย จัดเตรียมหลักสูตรคู่ขนานกับ 3 ประเทศ
          ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กล่าวต่อว่า จากการที่ได้ไปร่วมประชุมสัมมนาและเปิดศูนย์ไทย เวียดนาม ที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม จากนั้นก็ได้เกิดความร่วมมือขึ้นมา วัตถุประสงค์หลักคือ ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคหลักที่มีผลต่อการพัฒนาอาเซียน อาเซียนมี 4 ประเทศหลักก็จริงแต่ว่าอยู่ที่ย่านนี้ก็คือไทย ลาวแล้วก็เวียดนาม ดังนั้นการสร้างความร่วมมือความพร้อมในการผลิต ความพร้อมในการตอบสนองต่อภาคผลิตมีความสำคัญจะเห็นได้ว่าอาชีวศึกษาที่ผ่านมายังตอบสนองได้ไม่เต็มที่สมัยก่อนนี้คือ เรียนไปแล้วจบแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะทำงานได้หรือเปล่าแต่ระบบใหม่นี่คือหลังจากที่มี พ.ร.บ.การศึกษาขึ้นมาเราได้เปลี่ยนระบบโครงสร้างใหม่
          ทางด้าน นายกาบ สวน มิน อธิการบดีโรงเรียนอาชีวศึกษากวางตรี ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ขณะนี้ได้จัดเตรียมนักศึกษาและสถาบันไว้แล้วเพื่อที่จะร่วมโครงการนี้กับไทย และลาว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางด้านภาษาไทย ลาว อังกฤษ ที่จะสอนให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ฉะนั้นไทยเราตอนก็ได้เตรียมศูนย์การพัฒนาทางด้านภาษาให้กับนักศึกษาไทยเช่นเดียว และคาดในอนาคต ขณะเดียวกัน นางสาว ลัดดา หรือ เหงียน ดิ ฮว่า อาจารย์ผู้ดูแลศูนย์อาชีวศึกษา ไทย เวียดนาม มีหน้าที่ ประสานการเรียนรู้ในเรื่อง AEC ซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทย ให้กับนักศึกษาเวียดนาม กล่าวว่า การสอนภาษาอังกฤษ ควบคู่ กับการสอนภาษา ไทย ลาว เวียดนาม ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี นอกเหนือจากการเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี อันจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

         

 

 ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


โพสเมื่อ : 18 ก.ค. 57   อ่าน 1311 ครั้ง      คำค้นหา :