กุญแจปฏิรูปการศึกษาเดิมพันที่ข้าราชการ



สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการปฏิรูปก็คือ"มีผู้ หวังดีเยอะมาก..แต่เรายังไม่มีทิศทาง"ต่างคนก็ต่างอยากจะทำอาจจะทำให้เกิดผล เสียขึ้นมาได้เช่นกันผ่านมาหลายเวทีความคิดเห็นก็จะมีคนบอกว่าสิงคโปร์ทำ อย่างนี้ ฟินแลนด์...อังกฤษทำอย่างนั้น สำคัญที่สุดเราต้องเข้าใจว่าทำไม?เขาถึงทำเบื้องหลังบริบทต่างๆทำไมถึงทำ เช่นนั้น

“กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา” หรือ “The Key of Education Reform” เป็นหัวข้อปาฐกถาสดๆร้อนๆ จัดโดยศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์

ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บอกว่า แนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทย 3 ข้อสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำสอน

หนึ่ง... “ต้องทำอย่างไรให้ครูรักเด็กและเด็กก็รักครูให้ได้”

“ถ้าอาจารย์หรือครูรักนักศึกษา รักเด็ก อาจารย์จะทุ่มเทการสอนและการอบรมนักศึกษา ถ้านักเรียน นักศึกษารักครู รักอาจารย์...เคารพ การเรียนจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ”

ข้อที่สอง...สำคัญมาก ทรงรับสั่งว่า “ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจกับเพื่อน” และทรงยกตัวอย่างว่า “ครูไม่ควรจะไปยั่วยุให้เด็กแข่งที่หนึ่ง...ที่สองในชั้น แต่เด็กที่เรียนเก่งควรจะช่วยติวเพื่อนที่เรียนช้า เพราะทุกคนจะต้องแข่งกับตัวเอง”

ประเทศไทยมีการสอบโอเน็ตมา 9 ปีแล้ว สอบมาหลายวิชาไปดูทุกวิชาจะมีเด็กประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ สอบได้ 90-100 คะแนนในวิชานั้นๆ ส่วนเด็กอีก 95 เปอร์เซ็นต์จะได้อย่างมาก 30-40 คะแนน

คำถามมีว่า “เราอยากให้เด็กไทยเก่งทั้งประเทศ หรือ...เก่งแค่ 5 เปอร์เซ็นต์”

น่าสนใจว่าโรงเรียนในโครงการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 100 โรงที่ดำเนินการมา เด็กๆได้คะแนนสูงระดับเดียวกันแบบยกทั้งแผง ศ.นพ.เกษม ยกตัวอย่างโรงเรียนวัดรางบัว บางแค พิสูจน์ผลออกมาชัดเจน เด็กติวกันเอง ในรูปแบบ “Peer Tutoring” หรือ “พี่ช่วยน้อง ผองเพื่อนช่วยกัน” เด็กรุ่นพี่รุ่นน้องก็เรียนดีขึ้น ครูก็ดีขึ้น เกิดความรักสามัคคีมากขึ้น เด็กหลายคนก็อยากเป็นครู

ข้อที่สาม...รับสั่งว่า “ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำเป็นหมู่คณะ เพื่อจะได้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”

“ข้อนี้ต้องบอกว่า ประเทศเราบางครั้งก็สงบบางครั้งก็วุ่นวาย ที่เสียหายมาก...อาจจะถึงกับเสียเมือง เพราะเสียความสามัคคีก่อน การศึกษาไทย...จะเดินหน้าหรือถอยหลังขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกัน ยกระดับให้เข้มแข็ง...ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องรักษาแผล แก้ไขข้อปัญหาต่างๆที่สะสมมายาวนาน”

“กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา” นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา บอกว่า ปัญหาการศึกษายิ่งใหญ่ที่สุดที่เจอไม่ใช่ปัญหาใหม่ หลายประเทศทั่วโลกเจอกันมาแล้ว

ทุกวันนี้ที่สำคัญ เวลาเราพูดถึง “การปฏิรูป” เราต้องถามตัวเองว่าเรารู้ไหมว่าเราอยากจะปฏิรูปจากอะไร...ให้กลายเป็นอะไร

“ตอนนี้ส่วนใหญ่คนจะไม่มีความสุข เพราะก็รู้ว่าการศึกษาไม่ดี แต่ว่าเราวินิจฉัยถูกไหม ว่าปัญหาจริงๆคืออะไร มีบทเรียนที่มีคนเคยทำกันมาบ้างหรือเปล่าในการจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้”

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการปฏิรูปก็คือ “มีผู้หวังดีเยอะมาก...แต่เรายังไม่มีทิศทาง” ต่างคนก็ต่างอยากจะทำ อาจจะทำให้เกิดผลเสียขึ้นมาได้เช่นกัน ผ่านมาหลายเวทีความคิดเห็น ก็จะมีคนบอกว่าสิงคโปร์ทำอย่างนี้ ฟินแลนด์...อังกฤษทำอย่างนั้น สำคัญที่สุดเราต้องเข้าใจว่าทำไม เขาถึงทำ เบื้องหลังบริบทต่างๆ

ทำไมถึงทำเช่นนั้น
“มีแต่ไดเรคทีฟ...คำสั่ง ข้อชี้แนะ ไม่มีไดเรคชั่น...ทิศทางที่ชัดเจนก็แย่”

นายแพทย์ธีระเกียรติ บอกว่า การปฏิรูปอาจไม่ใช่การกระจายอำนาจอย่างเดียวอย่างที่หลายคนเข้าใจ จริงๆเป็นการกระจายงานแล้วอำนาจตามไป แล้วก็มีการควบคุม

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ปฏิรูปการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่าการศึกษาไม่ใช่ตลาดที่มีจริง ไม่ใช่ซุปเปอร์มาร์เกต แม้ว่าจะมีการจัดระดับโรงเรียนดี...ไม่ดี หวังให้โรงเรียนที่ไม่ดีล้มหายตายจากไม่ได้รับความนิยม ก็ไม่ตาย...สาเหตุก็คือว่า ประชาชนไม่มีทางเลือก

“กระจายอำนาจ...ปฏิรูประบบการศึกษา ถ้าพื้นที่หนึ่งมีแค่โรงเรียนเดียว จะไปเรียนที่ไหนดี...ไม่ดีก็ต้องเรียนที่นั่น ประชาชนไม่ได้มีทางเลือกอย่างที่คิด”
หลายประเทศทั่วโลกมีบทเรียน มีปัญหาเรื่องการปฏิรูปการศึกษา บิล เกตส์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา เริ่มรู้ว่าอะไรสำคัญ พบว่า สิ่งที่สำคัญคือ “คุณภาพของครู” และ “คุณภาพการสอน”

“ทำอย่างไรก็ตาม เด็กจบใหม่ที่เก่งๆ ไม่จำเป็นต้องจบครู จบวิทยาศาสตร์ จบคณิตศาสตร์ เอามาเป็นครู จัดอบรมให้เต็มที่...เส้นทางครูเป็นเส้นทางที่ง่ายสำหรับคนเก่ง เทียบกับบ้านเราเป็นยังไง ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กเข้ามายากๆ...”

การปฏิรูปโครงสร้างอย่างเดียว ในที่สุดจะไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ เกิดผลข้างเคียงด้วย แต่ก็ต้องทำ...แล้วก็มีการเสนอให้การศึกษาออกจากการเมืองไปเลย ทำไมต้องให้นักการเมืองไปคุมแล้วก็พัฒนาไปถึงการกระจายอำนาจไปสู่ระดับ โรงเรียน...ให้อิสระกับโรงเรียนที่จะตั้งโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลเต็มตัว ได้
บริการจัดการ...ดูแลงบประมาณเอง ทุกอย่างจบที่ระดับโรงเรียน แล้วที่สำคัญไม่จำเป็นต้องสอนตามหลักสูตรการศึกษาชาติ เปิดให้มีนวัตกรรมของตัวเองได้เต็มที่

จะเห็นว่าวันนี้ประเทศอังกฤษมีโรงเรียนที่เป็น “อะคาเดมี่” ...เต็มไปหมด

ประเทศไทยจะทำอย่างไรกับเส้นทางการปฏิรูปการศึกษา นายแพทย์ธีระเกียรติ ย้ำว่า เราใช้งบอยู่ราวๆ 5 แสนล้าน กับระบบการศึกษาให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง...เรามีโรงเรียน 4 หมื่นโรง เรามีครู 4 แสนคน แต่ผลจากระบบการศึกษาน่าตกใจ พบว่าเด็ก 75 เปอร์เซ็นต์ ยังอ่านไม่ได้เขียนไม่ได้...อ่านไม่ได้เลยหลายหมื่นคน อ่านตะกุกตะกัก ประมาณสองแสน แล้วอ่านได้แต่ไม่รู้เรื่องอีกหลายแสนคน

นี่แค่เรื่องการอ่าน ยังไม่นับรวมเรื่องความรู้วิชาการอย่างคณิตศาสตร์ และเรื่องนิสัย ที่พบว่าเด็กไทยมีการลอกข้อสอบ หรือเคยลอกมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์
ถึงตรงนี้หลายคนอาจเห็นเค้าลางของกุญแจปฏิรูปการศึกษารำไร สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องชัดเจนในเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา เพราะจะทำให้เรารู้ว่าจะเดินไปทางไหน อย่างไร

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของเด็ก นายแพทย์ธีระเกียรติ มีโอกาสที่เข้าไปทำงานในกระทรวงศึกษาธิการพบความจริงที่ต้องยอมรับที่ว่า “การพูดคุยส่วนใหญ่ของคนในกระทรวงฯ ไม่เกี่ยวอะไรกับเด็กเลย เกี่ยวกับว่า...วิทยฐานะ ผลประโยชน์ การเลื่อนขั้น ใครจะเป็นเลขาฯ ที่นั่น ที่นี่...ก็มีแต่เรื่องเหล่านี้”

“การปฏิรูปการศึกษา” ต้องมีแก่น มีหลัก กระจายอำนาจ พร้อมๆกับดึงทุกภาคส่วนมาร่วม...เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมก็ได้

ความต่อเนื่องในการปฏิรูปก็สำคัญ แม้ว่าหลายคนอยากให้บรรจุเส้นทางการปฏิรูปการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็อีกนั่นแหละ เขียนแล้วจะทำหรือ...เขียนยังไงไม่ทำซะอย่าง แล้วจะทำยังไง

“คิดเล่นๆ...ต้องขจัดอุปสรรคที่สำคัญการปฏิรูปการศึกษา ก็คือระบบราชการที่เทอะทะ อุ้ยอ้าย ในกระทรวงมีคนอยู่ 5,000 คน ไม่ได้คุยเรื่องการศึกษาเลย ต้องปฏิรูปข้าราชการทั้งหมดก่อน...แล้วการปฏิรูปอื่นๆจะตามมา คำถามมีว่า ใครจะกล้าไหม...มีโอกาสที่จะทำได้ก็น่าจะทำสักที”

การปฏิรูปการศึกษาไทย ฝากไว้กับทุกคนในชาติ ต้องช่วยกันให้ผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้.

 

 

 

ที่มา ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2557 (กรอบบ่าย)


โพสเมื่อ : 20 ต.ค. 57   อ่าน 1463 ครั้ง      คำค้นหา :